“ซึมเศร้า” วายร้าย เหตุนำสู่ การฆ่าตัวตาย

แนะคนรอบข้างสังเกต พบคนใกล้ชิดเป็น รีบปรึกษาแพทย์

“ซึมเศร้า” วายร้าย เหตุนำสู่ การฆ่าตัวตาย 

เด็กดี ขยัน และเรียนเก่ง แต่กลับสอบได้คะแนนไม่ดีเท่าที่คาดหวัง… รู้สึกผิดหวังกระโดดตึกฆ่าตัวตาย!! …..

 

ข่าวคราวสะเทือนใจ ที่ทำใครหลายคนถึงกับสลด!!! ด้วยความเสียดาย เด็กเก่ง เด็กดี ที่น่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ให้กับครอบครัวได้อย่างมากมายในอนาคต จะต้องมาจบชีวิตเสียง่ายๆ ด้วยเรื่องเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในสายตาของเรา แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขั้นคอขาดบาดตายของเขาไปได้

 

แน่นอน ถ้าเป็นแบบเรา ๆ ก็คงจะไม่หาทางออกด้วย การฆ่าตัวตาย เพราะน่าจะคิดได้ว่า ชีวิตยังมีค่า มีหวัง พลาดแล้วแก้ไขใหม่ได้ ที่คิดอย่างนี้ เพราะเราเป็นคนธรรมดา แต่สำหรับเด็กเก่งรายนี้ เขาคิดไม่เหมือนเรา เนื่องจากเขาเป็นโรคชนิดหนึ่งอยู่ นั่นก็คือ โรคซึมเศร้า

 

อาการโรคซึมเศร้า ไม่ใช่เป็นเพียงอารมณ์ แบบคนปกติ ที่เวลามีเรื่องผิดหวังหรือเสียใจ ก็จะเสียใจ และเศร้าได้บ้าง แต่ก็ไม่มากมายถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้า กลับแตกต่างกัน แม้เรื่องเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถทำให้เศร้าสุดขีดได้

 

โรคซึมเศร้า สังเกตไม่ยาก หากรู้สึกมีอารมณ์เศร้า เบื่อทุก ๆ อย่าง นานต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร ผอมลงนอนไม่หลับกระวนกระวาย ซึม ๆ อ่อนเพลียง่าย รู้สึกผิด ไร้ค่า มองเห็นแต่อดีตที่ผิดพลาดของตนเอง ไม่ว่าจะอะไร ๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต ขาดสมาธิ หลงลืมง่าย ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ดูโทรทัศน์นาน ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือได้ไม่ถึงหน้า ทั้งหมดเหล่านี้เข้าข่ายอาการโรคซึมเศร้าทั้งนั้น

 

และที่น่าเป็นห่วงที่สุด การมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้ทำให้เจ้าตัวคิดอยากไปให้พ้น ๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาจะเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ยังไม่ได้มีแผนการอะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจจะมีอารมณ์ชั่ววูบ และเกิดการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

 

….เมื่อสังเกตได้ว่า ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ตัว มีอาการคล้ายๆ กันนี้ ควรจะรีบนำไปพบจิตแพทย์โดยด่วน เพราะคนเหล่านี้ มีเปอร์เซ็นต์การฆ่าตัวตายสูงมาก จึงต้องรีบรักษาก่อนอาการจะกำเริบมากถึงขั้นฆ่าตัวตายจริงๆได้

 

เหตุที่ต้องให้ไปพบแพทย์ ก็เพื่อให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันตอนนี้ มีโรคภัยต่างๆ เกิดขึ้นใหม่มากมาย และโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้าก็มีหลายโรคเช่นกัน อีกทั้งโรคและยาบางตัวก็สามารถก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยบางคนอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้

 

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของจิตแพทย์พอสมควร บางครั้งมีบ้างเหมือนกันที่ผู้ป่วยมาด้วยอาการของโรคซึมเศร้า แต่พอรักษาไปได้ระยะหนึ่งเริ่มมีอาการของโรคทางกายให้เห็น พอส่งตรงเพิ่มเติมก็พบเป็นโรคทางกายต่าง ๆ ไม่ใช่โรคซึมเศร้าก็มี

 

โรคนี้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะดีขึ้น อาการเช่น ร้องไห้บ่อย ๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เคยเป็นบางคนบอกว่า ไม่เข้าใจว่า ตอนนั้นทำไมจึงรู้สึกเศร้า ได้ถึงขนาดนั้น?

 

ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก

 

แต่อย่าเป็นกังวลไปเลย โรคนี้สามารถรักษาได้ แต่ที่สำคัญคือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการหนัก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการชี้แนะ การมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ หาแนวทางในการช่วยปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

 

…ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ทุกปัญหามีทางออก เมื่อรู้สึกว่าตัวเอง คนใกล้ตัวเครียด กังวล กับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้ความซึมเศร้าเข้าครอบงำจิตใจ พยายามหากิจกรรมมาทำร่วมกัน ออกกำลังกาย ผ่อนคลายด้วยการพักผ่อน ฟังเพลง หรืออื่นๆ ที่ชอบ เพราะกิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยให้ โรคซึมเศร้า ลดลงได้ ลองดูสิ!!!

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : วารสารสุขสาระ เดือนกรกฎาคม 2551

 

 

 

Update 27-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code