`ซับผุด` โมเดล สานพลังชุมชนยั่งยืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กว่า30 ปีที่ผ่านมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ภาคปฏิบัติในทุกพื้นที่ของแผ่นดินไทย ประชาชนคนไทยมีหลักการดำเนินชีวิต เดินตามหลักที่ว่าพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล
ตัวอย่างของชุมชนบ้านซับผุด ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เป็นอีกพื้นที่ที่น้อมนำปรัชญาในหลวงเข้ามาภายใต้ โมเดล ซีเอส อาร์ พอเพียง : ซับผุดโมเดล เปลี่ยน แปลงพื้นที่แล้งน้ำให้อุดมสมบูรณ์
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธ์ ประธานซีเอสอาร์พอเพียง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า โมเดล ซีเอสอาร์ พอเพียง : ซับผุดโมเดล เริ่มต้นมาตั้งแตปี 53 เกิดขึ้นจากการประสานทุกภาคี อาทิ สำนักงาน กปร. บริษัท บาธรูมดีไซน์ กระทรวง มหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาทำโครงการสนับสนุนชุมชนน่าอยู่ เน้นเรื่องการออม ทุกภาคส่วนมาร่วมขยายผลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่ความรับผิดชอบสังคมหรือซีเอสอาร์ มีวัตถุประสงค์ให้การปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน มุ่งให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ซึ่งหลังเก็บข้อมูล สอบถามความต้องการชุมชน สิ่งที่ต้องการคือน้ำ แม้มีแหล่งน้ำจากน้ำตกแต่ไม่มีระบบท่อส่งน้ำ ซึ่งมีความต้องการท่อน้ำเพียง 3,000 เมตร มายังชุมชน โครงการนี้ได้ประสานงานของท่อน้ำจากบริษัทนวพลาสติก ให้ท่อน้ำและให้ช่างมาสอนการติดตั้งให้กับชาวบ้าน
"การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามโมเดลซีเอสอาร์พอเพียงนั้นจะไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องการให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ มีความเข้มแข็งพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวบ้านเป็นผู้ให้และผู้รับ คือการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนในทุกมิติ"
ชาวบ้านที่มีอยู่กว่า 100 หลังคาเรือน เรียกขานท่อประปาที่ต่อน้ำมาจากภูเขาว่า "ท่อผุดทรัพย์" ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างท่อน้ำ มีการกำหนดกติกาการใช้น้ำ สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้มากกว่าข้าวโพด ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง และยังขุดบ่อเลี้ยงปลา และปัจจุบันบ้านซับผุดได้แปร รูปพืชผลทางเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ที่ผ่านการประสานสิบทิศจากโมเดลซีเอสอาร์พอเพียง
"จากการปลูกมันสำปะหลัง มาเป็นดอกดาวเรือง จากการทำเกษตรใช้สารเคมี ปรับมาเป็นปุ๋ยชีวภาพในอนาคตทำเกษตรอินทรีย์ และเริ่มเปรรูปผลิต ภัณฑ์ ปัจจุบันแม่บ้านรวมกลุ่มผลิตน้ำพริก ทำจักสาน" ดร.ทองทิพภา ถ่ายทอดความก้าวของซับผุดโมเดลใน พ.ศ.นี้ ให้ผู้ร่วมเวทีเสวนา การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ รร.เอมเมอรัลด์ รัชดา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายไกรสร กองฉลาด มาร่วมเวทีเสวนาด้วย พร้อมกล่าวว่า ศักยภาพของบ้านซับผุดสามารถส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้มากกว่าปีละครั้ง เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร แต่ต้องหานวัตกรรมเข้ามาต่อยอดเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์รวม ทั้งการสร้างมาตรฐาน ส่งสริมให้มีมาตรฐานจีเอพี และหาช่องทางการตลาด ทั้งนี้จังหวัดเพชรบูรณ์มีนโยบายกรีนมาร์เกตสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พื้นที่ปลูกกะหล่ำของ อ.ทับเบิก จ.หล่มเก่า ได้เข้าสู่โครงการกรีนมาร์เกตแล้ว โดยร่วมมือกับ ม.นเรศวร ในการสร้างระบบนี้ตรวจสารเคมีในกะหล่ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ซึ่งสินค้าเหล่านี้ถูกลำเลียงมาขายในท็อปส์ซูเปอร์มาร์เกต และล่าสุดจังหวัดได้ประสานกับห้างแม็คโคร ในการรับซื้อพืชผักปลอดสารกับเกษตรกร
"ด้วยศักยภาพของพื้นที่จังหวัดสามารถปลูกพืชผักเมืองหนาวได้เกือบทุกชนิด ที่ผ่านมาเกษตรกรทดลองปลูกมาแล้วแต่ต้องมาจบที่กะหล่ำปลีเพราะมีตลาด แต่ที่สุดแล้วเกษตรกรต้องรวมกลุ่ม เมื่อมีออร์เดอร์แล้วจะไม่มีปัญหา การที่ซับผุดลุกขึ้นมา ทำอะไรด้วยตัวเอง ถือว่ามีความสำคัญเมื่อมีภาคราชการเข้าไปหนุนเสริมทำให้ไปได้เร็วขึ้น" รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าว
สำลี แทงกันยา อดีตผู้ใหญ่บ้านซับผุด ผู้บุกเบิกโครงการพัฒนาชุมชนตามแนวปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า ประปาภูเขาทำให้เขาพ้นทุกข์ ในอดีตเมื่อเข้าสู่หน้าแล้งต้องมารับจ้างในเมือง เพราะตั้งแต่มีน้ำก็มีเงิน
ปัจจุบันบ้านซับผุดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน ในฐานะชุมชนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จนเกิดผลเป็นรูปธรรมชัด แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากภาคีเครือข่ายภาคอื่น ๆ ก่อนก็ตาม