ซองบุหรี่เปลี่ยนรูป ขู่วัยรุ่น’เซ็กซ์’เสื่อม
ผลวิจัยชี้วัยรุ่นไทยกลัวเซ็กซ์เสื่อมมากกว่ามะเร็ง มหิดลเผยทดลองกับโจ๋ที่สูบบุหรี่และไม่สูบ ให้ดูซองบุหรี่แสดงภาพเซ็กซ์เสื่อมร่วมกับซองบุหรี่แบบปกติ และรูปภาพมะเร็งปากร่วมกับซองบุหรี่แบบเรียบ กลุ่มตัวอย่างกลัวภาพอันตรายของบุหรี่ก่อให้เกิดภาวะเซ็กซ์เสื่อมมากกว่าภาพซองบุหรี่ที่แสดงโรคมะเร็งปาก ส่วนกลุ่มไม่สูบบุหรี่กลัวมะเร็งปากมากกว่า เตรียมเปลี่ยนภาพคำเตือนให้ทันสมัยขึ้น
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงผลงานวิจัยเด่นครบรอบ 10 ปี (1 ก.ค. 2548-1 ก.ค. 2558) ที่โรงแรมสุโกศล โดยมีประเด็นเรื่องภาพและคำเตือนบนซองบุหรี่รวมอยู่ด้วย
ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า ผลวิจัยเรื่อง "ศึกษาประสิทธิผลของปัจจัยทดลอง 3 ปัจจัย ได้แก่ การขยายขนาดรูปภาพ 85% ชนิดรูปภาพฉลากคำเตือนเรื่องสุขภาพ และซองบุหรี่แบบเรียบ ที่มีผลต่อพฤติกรรมสนองตอบในการบริโภคบุหรี่ของวัยรุ่นในประเทศไทยปี 2558" โดยหน่วยทดลองเป็นนักเรียนและนักศึกษาในสถานศึกษาเขตกรุงเทพฯ อายุ 13-18 ปี รวม 720 คน จำแนกตามกลุ่มสูบ และไม่สูบ จำนวนเท่ากัน ผลวิจัยพบว่า ในกลุ่มสูบบุหรี่ซองบุหรี่ที่แสดงรูปภาพเซ็กซ์เสื่อมร่วมกับซองบุหรี่แบบปกติ และรูปภาพมะเร็งปากร่วมกับซองบุหรี่แบบเรียบ กลุ่มตัวอย่างรู้สึกเกรงกลัวภาพแสดงอันตรายของบุหรี่ก่อให้เกิดภาวะเซ็กซ์เสื่อม มากกว่ารูปภาพซองบุหรี่ที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปาก ส่วนกลุ่มไม่สูบบุหรี่ รูปภาพมะเร็งปากทำให้เกิดความรู้สึกกลัวอันตรายมากกว่ารูปภาพเซ็กซ์เสื่อม
ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวอีกว่าภาพสูบบุหรี่แล้วก่อให้เกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพองนั้น เป็นการรับรู้แบบทั่วไปบางคนอาจรับสภาพว่าสูบบุหรี่อาจเกิดโรคในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า ขณะที่การใช้คำเตือนเรื่องสมรรถภาพทางเพศ หรือเรื่องเด็กเกิดใหม่อาจเสี่ยงต่อหูพิการหากแม่สูบบุหรี่เป็นการทดลองใหม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้นำเสนอมากนัก เมื่อกลุ่มวัยรุ่นได้รับรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ ดังนั้น การทำงานด้านบุหรี่จึงต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใน 2 ปี อาจต้องเปลี่ยนภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยอาจจะมีคำเตือนเรื่องโรคใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนัก เมื่อก่อนวัยรุ่นอาจไม่สนใจเรื่องเพศแต่ทุกวันนี้วัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์แล้ว กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นดังนั้นคำเตือนเรื่องสูบบุหรี่แล้วเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจึงทำให้เขาเกรงกลัวการสูบบุหรี่
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต