‘ช้อนปรุงลด’ เค็มจัดถึงใจ แต่ไตขอยกธงขาว

ที่มา : แฟนเพจ Urban Creature โดย Worakan J.


ภาพประกอบจากแฟนเพจ Urban Creature โดย Jirayu P.


'ช้อนปรุงลด' เค็มจัดถึงใจ แต่ไตขอยกธงขาว thaihealth


“ช้อนปรุงลด” เค็มจัดถึงใจ แต่ไตขอยกธงขาว ปรุงเค็มมากแค่ไหนถึงจะไม่เกินพอดี ?



แม้กับข้าวจะรสจัดจ้านถูกปากแค่ไหน คนไทยมักจะไม่ลืมเติมน้ำปลาบนข้าวสวยร้อน ๆ ตามความเคยชิน ติดเค็มจนถึงขนาดแม้ไม่มีกับข้าว ก็สามารถกินข้าวสวยร้อน ๆ หรือขนมจีนกับน้ำปลาได้สบาย จนลืมคำนึงถึงปริมาณโซเดียมที่ได้รับในมื้อนี้ไปเสียสนิท นอกจากนี้ ความเค็มในอาหาร ไม่ได้ส่งผลแค่รสชาติที่เราได้สัมผัส แต่ยังโยงไปถึงสุขภาพอีกด้วย การปรุงอาหารด้วยความเคยชิน กินรสเค็มจนคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมสูงกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 2 เท่า 


พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกับสุขภาพของเราในทางตรง โดยที่เราเองมักมองข้ามเรื่องเล็กน้อยอย่างการปรุงนี้ไป ซึ่งโซเดียมตัวร้ายมักแฝงอยู่ในอาหารรสคุ้นลิ้นอย่างเงียบเชียบในทุกคำที่เราตักเข้าปาก มาเริ่มต้นจัดการปริมาณโซเดียมให้เหมาะสมต่อมื้อด้วยวิธีง่าย ๆ แบบไม่ต้องเดาหรือกะเอาตามความรู้สึก ด้วย “ช้อนปรุงลด” ผลงานสุดสร้างสรรค์จาก ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ หรือ สสส.



เจ้าช้อนนี้มีอยู่ด้วยการ 2 แบบคือ ‘ช้อนลดน้ำปลา’ และ ‘ช้อนลดเกลือ’ จะช่วยลดปริมาณเครื่องปรุงโซเดียมลง ด้วยดีไซน์ที่ถูกเจาะรู จนเหลือพื้นที่แค่ 1/3 สำหรับช้อนตักเกลือ และ 2/3 สำหรับช้อนตักน้ำปลา ต่อให้ตักเยอะแค่ไหน ส่วนเกินจะทะลุผ่านรูบนช้อนไป จนเหลือแต่ปริมาณที่เหมาะสมต่อหนึ่งมื้อ 



ปกติแล้วเรามักจะกะปริมาณที่เหมาะจากปลายช้อน แต่ความรีบร้อนหรือความเคยชินทำให้เผลอตัวตักพูนมาครึ่งช้อนบ้าง ตักปลายช้อนแต่หลายรอบบ้าง เพราะกลัวรสไม่ถึง แบบนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการตักเต็มช้อนอยู่ดี แม้จะบอกปริมาณที่เหมาะสมเป็นตัวเลขละเอียดยิบระดับมิลลิกรัม แต่เราก็ไม่อาจตักได้แม่นยำทุกครั้งไป



ช้อนปรุงลด จึงเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้เราลดปริมาณโซเดียมในมื้ออาหารแบบได้ผลทันตา เมื่อใช้บ่อย ๆ จนชินมือยังช่วยให้เราจดจำปริมาณที่เหมาะสมนั้นได้ แม้จะไม่ใช้ช้อนปรุงลดในครั้งต่อไปก็ตาม และนี่คือจุดประสงค์หลักของผู้ออกแบบ ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเกิดภาพจำปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม จนสามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหารในชีวิตประจำวันได้จริง 



อย่ามัวแต่ปรุงอาหารให้ถูกปาก จนลืมคำนึงถึงสุขภาพในระยะยาว หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นจัดการกับโซเดียมตัวร้ายอย่างไร ลองเริ่มจากใช้ “ช้อนปรุงลด” กันดู

Shares:
QR Code :
QR Code