“ช่วยผู้ป่วย” การรักษาล้างไตผ่านช่องท้อง

ที่มา: บ้านเมือง


“ช่วยผู้ป่วย” การรักษาล้างไตผ่านช่องท้อง  thaihealth


แฟ้มภาพ


“หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มศว” หนุนนโยบายล้างไตผ่านช่องท้อง ช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้าถึงการรักษา เหมาะสมบริบทประเทศไทย ทั้งข้อจำกัดบุคลากรและผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเดินทางลำบาก พร้อมระบุให้ผลการรักษาไม่ต่างจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะที่ต่างประเทศสนใจ PD First Policy ในการดูแลผู้ป่วย เหตุเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและคุณภาพการรักษาไม่ต่างกัน


รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นโครงการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาลเพื่อดูแลและทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ประกอบกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แม้ว่าเราจะมีศูนย์ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกระจายรองรับรวมถึงในพื้นที่ชนบท แต่ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีปัญหาการเดินทางทำให้ไม่สามารถเข้ารับการฟอกเลือดได้ ดังนั้น การล้างไตผ่านช่องท้องจึงเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง


ส่วนที่มีเปรียบเทียบคุณภาพและมาตรฐานระหว่างการล้างไตผ่านช่องท้องและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนั้น รศ.พญ.สิริภา กล่าวว่า มีการศึกษาจำนวนมากในหลายประเทศที่แสดงให้เห็นว่าการรักษาทั้ง 2 แบบมีคุณภาพและมาตรฐานการรักษาที่ไม่ต่างกัน ขณะที่ปัญหาการติดเชื้อ ผู้ป่วยล้างไตทั้ง 2 กลุ่มก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะเป็นการติดเชื้อที่เกิดจากระบบน้ำไม่สะอาด และการติดเชื้อบริเวณเส้นเลือดที่ผ่าตัด ซึ่งมีการหากติดเชื้อแล้วเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดทันที นับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ส่วนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจะเป็นการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง หากผู้ป่วยมีความเข้มงวดรักษาความสะอาดทุกครั้งในการเปลี่ยนถ่ายน้ำยา โอกาสติดเชื้อก็มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยหลายรายที่เราสอนเปลี่ยนถ่ายน้ำยาและได้ทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด นอกจากปัญหาการติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วยังมีอัตราที่ลดลง           


“การที่มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์การล้างไตผ่านช่องท้องทั้งมาตรฐานการรักษาและอัตราการติดเชื้อนั้น อาจมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งในฐานะแพทย์ดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกไตทั้ง 2 วิธี ยืนยันได้ว่าในการรักษาไตวายเรื้อรัง ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีผลลัพธ์ในทางการแพทย์ไม่ได้แตกต่างกัน การล้างไตทั้ง 2 แบบนับเป็นวิธีที่ดีเท่ากัน เพียงแต่เราต้องเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากกว่า ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยและ สปสช.ที่ดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง”        


รศ.พญ.สิริภา กล่าวว่า การล้างไตผ่านช่องท้องในต่างประเทศกำลังเป็นที่นิยมและในหลายประเทศได้ดำเนินนโยบายนี้ตามประเทศไทย แม้แต่ในกลุ่มประเทศแถบอเมริกาและตะวันตกต่างก็เริ่มหันมาสนใจการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องนี้ เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังประสบปัญหาข้อจำกัดทั้งเครื่องไตเทียมและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ รวมไปถึงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดจากตัวของผู้ป่วยเองที่ต้องเดินทาง ซึ่งหากใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมผู้ป่วยก็จะเดินทางไปไหนได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในต่างประเทศเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


รศ.พญ.สิริภา กล่าวต่อว่า ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่การรักษามีข้อจำกัด โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น การป้องกันโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคไตต้องระวังความเสี่ยงและดูแลสุขภาพตนเองเพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างรวดเร็ว และแม้จะเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้วก็ตาม การดูแลถนอมไม่ให้ไตเสื่อมมากขึ้นยังเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก เพราะการล้างไตช้าไปหนึ่งวันดีกว่าการที่ต้องล้างไตเร็วขึ้นหนึ่งวัน

Shares:
QR Code :
QR Code