ช็อค! คนกรุงขาดวิตามินดีจากแดด เสี่ยงกระดูกพรุน
นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ตัวแทนมูลนิธิกระดูกพรุนนานาชาติ ระบุ ประชากรของไทย เกือบครึ่งขณะนี้ มีวิตามินดีในร่างกาย ต่ำกว่ามาตรฐาน อยู่ที่ 75 นาโนโมลต่อเลือด 1 ลิตร ซึ่งคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ขาดวิตามินดี มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 64.6 รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน
เนื่องจากพฤติกรรมของคนในเขตเมืองที่เปลี่ยนไป อยู่แต่ในบ้านและที่ทำงาน ไม่ได้ออกมาสัมผัสแสงแดด ต่างกับผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ต้องออกไปทำงานในสวนในไร่นอกบ้าน ได้รับแสงแดดไปช่วยสร้างวิตามินดีได้มากกว่า โดยกลุ่มเสี่ยง สำหรับการขาดวิตามินดี คือ สตรี และมีแนวโน้มคนหนุ่มสาว จะขาดวิตามินดี มากกว่ากลุ่มวัยกลางคน หรือ ผู้สูงอายุ และหากอายุก่อน 30 ปี ร่างกายได้รับวิตามินดีน้อย ร่างกายจะไม่สามารถสร้างกระดูกให้หนาและแข็งแรงได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสร้างมวลกระดูกสูงสุด หรือ peck bone mass และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน หรือภาวะกระดูกบาง เมื่ออายุมากขึ้น
ในอดีตมีความเข้าใจว่าคนไทย อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงได้รับแสงแดดค่อนข้างมาก สามารถสร้างวิตามินดีได้เอง ไม่น่าที่จะเป็นภาวะขาดวิตามินดี ซึ่งต่างจากประเทศในแถบตะวันตก แต่ปัจจุบันคนไทย เริ่มตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ต่อการขาดวิตามินดี เพิ่มมากขึ้น จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง
ซึ่งการสร้างวิตามินด้วยตัวเอง ที่ง่ายและประหยัดที่สุด ก็คือ การเปิดรับแสงแดด ผ่านทางผิวหนัง ซึ่งแสงแดด มีคุณสมบัติในการสร้างวิตามินให้กับร่างกาย โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็คือ 09.00 น. และหลัง 15.00 น.ซึ่งเป็นช่วงที่แสงแดดไม่แรงและไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง วันละ 15 นาทีต่อวันเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็พอแล้ว ให้ผิวหนังเปิดรับแสงแดด และสามารถสร้างวิตามินดี ให้กับร่างกาย และเพื่อให้ร่างกายได้รับแสงแดดโดยตรง ควรสวมเสื้อแขนสั้น ไม่ต้องมีผ้าปกคลุม และงดใช้ครีมกันแสงแดด ทั้งนี้รังสี uvb ไม่ทะลุผ่านกระจกใส การนั่งรับแสงผ่านหน้าต่างกระจกหรือหน้าต่างรถยนต์จึงไม่ได้รับวิตามินดี
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มี วิตามินดี ซึ่งพบได้ทั้งในพืชผัก ผลไม้ และเนื้อเยื่อของสัตว์ ที่พบมากได้แก่ น้ำมันตับปลา ไขมัน นม เนย ตับสัตว์ ตับปลาคอด (cod) ปลาทู ไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาแมคเคอเรล
ที่มา: สำนักข่าวสปริงนิวส์