ชู15หน่วยงานตามพ.ร.บ.ตอบโจทย์พัฒนาชาติ

/data/content/26624/cms/e_adghnswyz169.jpg


          รองนายกฯ “ยงยุทธ” ชื่นชม15หน่วยงานตามพ.ร.บ.เฉพาะ ต้นแบบบริหารภาครัฐแนวใหม่ หนุนเสริมการปฏิรูปประเทศลดความเหลื่อมล้ำ


          เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ. เฉพาะ : นวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ภายในการประชุมวิชาการ 15 หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ 2557 ว่า หน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นจากการมี พ.ร.บ. เฉพาะทั้ง 15 แห่ง สามารถดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐปกติ ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้งานของรัฐไปได้ดี เป็นต้นแบบหนึ่งในการที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น่าจะคิดถึงและนำไปใช้เป็นรูปแบบในการปฏิรูประบบการบริหารหน่วยงานรัฐ โดยใช้กลไกแบบ พ.ร.บ. เฉพาะ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานเหล่านี้มีความหลากหลายในการดำเนินงาน ทั้งด้านนโยบาย สนับสนุน ปฏิบัติ และผสมผสาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการทำงานแบบผสมผสานทำทั้งด้านนโยบาย สนับสนุน และปฏิบัติ


/data/content/26624/cms/e_acefjmnpvx29.jpg


          นายยงยุทธ กล่าวว่า หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ มีข้อดี คือ ตอบสนองการปฏิรูปด้านการกระจายอำนาจ การทำงานมีความคล่องตัว อิสระ รวดเร็ว สามารถสร้างเครือข่ายในแนวราบ และการผลักดันแนวความคิดและการปฏิบัติใหม่ ส่วนข้อเสียคือ มีความโน้มเอียงที่จะเป็นศูนย์อำนาจใหม่ ยิ่งองค์กรที่ตั้งมานาน มีพนักงานจำนวนมาก ก็ยิ่งมีขั้นตอนการทำงานมาก จึงต้องพยายามขจัดออกไป รวมถึงการประสานกับหน่วยงานภายนอก ความเชื่อมโยงกับหน่วยงานบนและล่าง และการละเลยแนวคิดและการแนวปฏิบัติเดิมของราชการที่มีส่วนดี โดยเฉพาะการตรวจสอบในระดับต่างๆ สำหรับสิ่งที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ 1. การประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของตนเองและการตอบสนองต่อระบบประเมินภายนอก 2. การปรับปรุงระบบงบประมาณให้โปร่งใสและมีประสิทธิผลที่ดี 3. การปรับปรุงระบบริหารงานบุคคล ทั้งขวัญกำลังใจ ระบบสวัสดิการ ค่าตอบแทนและการเคารพของสังคม


/data/content/26624/cms/e_ceilmptuvz14.jpg


          “หน่วยงานราชการยังคงเป็นเสาหลักของประเทศ ไม่ใช่ต้องมาเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับ หรือการรับใช้ประชาชนตามปกติก็ยังต้องเป็นหน่วยงานราชการ เพราะหากมีหน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะมากเกินไป จะทำให้การดำเนินงานของระบบข้าราชการยุ่งยาก ส่วนจะมีเพิ่มขึ้นกี่หน่วยงาน และเป็นหน่วยงานในส่วนใดขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่มีแนวโน้มที่จะมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญ หน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการให้ได้ ไม่ใช่ทำงานแบบโดดเดี่ยว” รองนายกฯ กล่าว


/data/content/26624/cms/e_bdijmosy1348.jpg


          นายยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับการประชุมดังกล่าวจะเป็นการสรุปบทเรียน โดยมีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาช่วยทำการวิจัยการทำงานที่ได้จากหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อนำไปเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูป ส่วนในเรื่องของการกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจนั้น ก็จะมีการหากลไกขึ้นมาเพื่อกำกับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการวางกรอบการกำกับการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้อยู่ สำหรับเรื่องการตรวจสอบการทำงาน ก็มีกระบวนการตรวจสอบทั้งภายใน ภายนอกหน่วยงาน และมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คอยตรวจสอบและนำผลการตรวจสอบเข้าที่ประชุมสภาด้วย อย่างไรก็ตาม การสรุปการทำงานที่ได้ จะมีการนำเสนอผ่าน สปช. ต่อไป


               


         ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code