ชู ‘วัด-มัสยิด’ ดูแลผู้ติดยา

ที่มา: ข่าวสด


ชู 'วัด-มัสยิด' ดูแลผู้ติดยา thaihealth


แฟ้มภาพ


          ผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านมา มีอัตราการบำบัดฟื้นฟูตามเกณฑ์ที่กำหนดค่อนข้างต่ำ


          นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านมา มีอัตราการบำบัดฟื้นฟูตามเกณฑ์ที่กำหนดค่อนข้างต่ำ อาจเนื่องมาจากครอบครัวและชุมชน ของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดมีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูและติดตามดูแลช่วยเหลือผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติดไม่มากนัก สังคมยังขาดการดูแล ให้โอกาสและยอมรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด


          นพ.ภาสกรกล่าวต่อว่า การบำบัดพื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในชุมชนควรให้มีความสอดคล้องกับวิถีชุมชน พบว่าวัดหรือมัสยิดเป็นศาสนสถานที่ผูกยึดกับวิถีชุมชน เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและคน ในชุมชนมักให้ความสำคัญค่อนข้างสูง ดังนั้น วัดและมัสยิดที่เป็นศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ทำให้ชุมชนและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา ยาเสพติดได้สอดคล้องและเหมาะสมมากขึ้น


          นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ. สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า สบยช.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนโดยศาสนสถาน (วัด/มัสยิด) เป็นศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้มีความรู้ ความเข้าใจในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพและแนวทางการพัฒนาคุณภาพงานยาเสพติด สามารถนำไปดำเนินการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ


          นพ.สรายุทธ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีวัดที่ได้รับการจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ 23 แห่ง ที่ให้การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติดทั้งในระบบสมัครใจและระบบบังคับบำบัด ในปี 2559-2561 จำนวน 1,843 ราย, 2,942 ราย และ 1,700 ราย ตามลำดับ ส่วนการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพโดยมัสยิดได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และในปัจจุบันได้ขยายผลการดำเนินงานเพิ่มที่จังหวัดสงขลา และสตูล


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ