ชุมชนแออัดเผชิญโควิด เจ็บทั้งสุขภาพและปากท้อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ชุมชนแออัดเผชิญโควิด เจ็บทั้งสุขภาพและปากท้อง thaihealth


แฟ้มภาพ


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับผู้คนในสังคม รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น การเว้นระยะห่างทำได้ยาก ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดขึ้นจึงส่งผลกระทบทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาปากท้องขาดรายได้


สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 หรือระลอกล่าสุด จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2564 ลามไปทั่วประเทศ ซึ่งแม้หลายจังหวัด เริ่มคุมอยู่ แต่สำหรับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยัง น่าเป็นห่วงจากข่าวพบคลัสเตอร์หรือการระบาดเป็นกลุ่ม ก้อนใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "ชุมชนแออัด"ที่การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำได้ยาก และโรคระบาดยังซ้ำเติมชีวิตคนในชุมชนเหล่านี้ที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ดังเรื่องเล่าจากงานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง "โควิดในชุมชน กทม. เรื่องที่ควรรู้" เมื่อเร็วๆ นี้


จักรกฤษณ์ เต็มเปี่ยม ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตคลองเตย และเยาวชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค บอกเล่าสถานการณ์ในพื้นที่คลองเตย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุด ที่การระบาดรุนแรงว่า หากเข้าใจบริบทของชุมชน จะเห็นว่าเมื่อมีผู้ติดเชื้อ 1 คน โอกาสแพร่กระจายก็มีสูงมากเพราะบ้านเรือนติดกัน และแม้ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการปูพรมตรวจคัดกรองอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้ไปโรงพยาบาล แต่ก็มีบางรายยังต้องรออยู่ที่บ้านเพื่อ รอเตียงว่าง อนึ่ง พื้นที่คลองเตยยังแบ่งเป็นชุมชนย่อยๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รวม 43 ชุมชน แต่จดทะเบียนอยู่ 39 ชุมชน


ซึ่งการทำงานรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 คณะกรรมการชุมชนยอมรับว่าทำงานกันหนักกว่า 2 ระลอกที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีความช่วยเหลือสิ่งของ จำเป็นมาจากภายนอก ทั้งที่ผ่านวัดสะพาน มูลนิธิ ดวงประทีป หรือบริจาคถึงชุมชนเองแต่ไม่ได้เข้าไปในชุมชน โดยให้กรรมการชุมชนทำหน้าที่บริหารจัดการ แต่อีก ด้านหนึ่ง "ชาวคลองเตยก็ถูกมองจากภายนอกอย่าง หวาดระแวงว่าจะนำเชื้อไปแพร่ ถึงขั้นที่หลายคนถูกพักงาน ขาดรายได้" นั่นหมายถึงผลกระทบต่อครอบครัวเพราะชาวคลองเตยทำงานแบบหาเช้ากินเช้า-หาค่ำกินค่ำ


จักรกฤษณ์ เล่าต่อไปว่า ยังมีชุมชนแออัดอีกหลายแห่งที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน และบางแห่งอาจลำบากกว่าคลองเตย เช่น บางส่วนของแฟลตดินแดง เพราะแม้แต่เงินสำหรับซื้อข้าวของทำถุงยังชีพให้ลูกบ้าน ในชุมชนก็ยังขาดแคลน ผู้นำชุมชนจึงต้องเจียดเงินตนเอง มาใช้จ่าย ในขณะที่ชุมชนคลองเตยยังมีคนภายนอกบริจาคเข้ามาบวกกับเจ้าหน้าที่นำโดยผู้อำนวยการเขตก็ทำงานกันหนักมาก จึงอยากให้ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ รวบรวมความเดือดร้อนของประชาชนก่อนประสานไปยังฝ่ายพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ ความช่วยเหลือ รวมถึงปลดล็อกระเบียบเงินอุดหนุนชุมชน ให้ผู้นำชุมชนนำไปใช้จัดสรรสิ่งของจำเป็น


"ใน 50 เขต คลองเตยอาจถือว่าโชคดี มีการระดมกันเกิดขึ้น ทำให้เกิดการตรวจครั้งยิ่งใหญ่เหล่านี้ ขึ้นมา ด้วยความที่คลองเตยเป็นชุมชนแออัดด้วย ถ้าเขตอื่นได้รับความโชคดีแบบเรามันคงดี ซึ่งตอนนี้ปัญหาคือรถตรวจมีน้อย มันทำให้ชุมชนอื่นที่เขาอยากตรวจก็จะกระจายไม่ทั่วถึง อย่างเขตข้างเคียงกันผมเห็นใจ มากเลย ยานนาวา สาทร ที่ผู้ติดเชื้อเขาเยอะๆ แม้กระทั่ง เขตปทุมวันที่เป็นข่าวขึ้นมา ช่วงตรงบ่อนไก่ที่คนติดเชื้อเยอะ อย่างปทุมวันได้รถตรวจแล้ว แต่เขตที่กล่าวมานี้ได้รถตรวจน้อยมาก" จักรกฤษณ์ กล่าว


วรรณา แก้วชาติ ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำงานด้านคนจนเมืองหรือชุมชนแออัด กล่าวว่า คนส่วนหนึ่งเมื่อตกงานก็กลายเป็นคนไร้บ้าน และสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้เกิดคน ไร้บ้านหน้าใหม่ ขณะที่คนในชุมชนที่ผ่อนบ้านในโครงการ บ้านมั่นคงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เมื่อขาดรายได้เพราะไม่มีงานทำก็ต้องขอพักชำระหนี้


โดยในชุมชนมีการทำร้านข้าวแกงราคาถูก 15-20 บาท ซึ่งคนตกงานสามารถรับประทานได้โดยไม่เสีย ค่าใช้จ่าย รวมถึงระดมความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ ป้องกันการแพร่เชื้อด้วย "บางทีเขาสวมหน้ากากอนามัย อยู่มันอาจจะเป็นชิ้นเดียวที่เขามี ซักแล้วซักอีก 5 บาท 10 บาท มันคือเงินที่เขาต้องเก็บในระยะนี้" บ้านเรือนของชาวคลองเตยเฉลี่ยกว้าง 4 เมตร ยาว 7 เมตร หากเป็นบ้าน 2 ชั้น บางหลังอยู่กันถึง 15 คน ไม่เหมาะสำหรับกักตัวกลุ่มที่ไม่มีอาการ จึงมีการจัดหาพื้นที่ ในชุมชน เช่น ศูนย์ประชุม ที่ทำการสหกรณ์ แม้กระทั่งบ้านร้างทำเป็นจุดพักคอย


"เราคิดว่าเรารอแค่ภาครัฐไม่ไหว มันต้องดูแล ตัวเองด้วย อันไหนเราทำได้จะทำ แต่อันไหนมันเหลือบ่า กว่าแรงต้องส่งโรงพยาบาลเราก็พยายามช่วยประสานงาน เต็มที่เพื่อให้ได้รับการรักษา เพราะว่าเราคิดว่าคนจนเมืองหรือคนชุมชนแออัด ค่าชีวิตมันเท่ากันกับคนอื่น ถึงแม้ว่าเราจะเป็นแรงงานของเมือง เป็นแรงงานราคาถูก หลายคนอาจจะมองว่าเป็นคนสลัม แต่คนเหล่านี้ต่างหาก ที่ขับเคลื่อนเมืองให้มันเดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้นทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน" วรรณา กล่าว


วรรณา ยังกล่าวถึงการลงทะเบียนต่างๆ ผ่านออนไลน์ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่ง น่าเป็นห่วงเพราะประชากรในชุมชนจำนวนมากมีข้อจำกัด ในการใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่คนไร้บ้าน ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่า จะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่ รวมถึงคนไทยที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ด้วย รัฐจึงควรออกนโยบายโดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย นอกจากนี้ รัฐควรจัดงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท เข้าไปในชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำชุมชนบางแห่งทำงานกันหนักมากแม้ไม่มี อุปกรณ์ดังกล่าวใช้


ขณะเดียวกัน "แม้คนในสังคมจะไม่สามารถยื่นมือมาช่วยอะไรคนในชุมชนแออัดได้มากนักเพราะตนเองก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่อย่างน้อยก็อยากให้เข้าใจและไม่ตีตรากัน" โรคระบาดนั้นติดได้ ไม่ว่ายากดีมีจน คนในชุมชนแออัดก็กลัวติดโรคไม่ต่างจาก คนอื่นๆ ในสังคม หรืออาจกลัวมากกว่าคนรวยเสียด้วยซ้ำ เพราะคนรวยยังมีเงินเก็บพอให้อยู่รอดไปได้นานกว่าคนจน


ด้านอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็นว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ น่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจชีวิตผู้คนในชุมชนแออัดมากขึ้น แต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าคือคนจนเมืองที่อยู่นอกชุมชนแออัด เพราะอย่างน้อยชุมชนแออัดก็ยังมีระบบชุมชนที่ช่วยเหลือกัน แต่คนจนเมืองที่อยู่ตามห้องเช่าแบ่งซอย เมื่อขาดรายได้ไม่มีเงินคนกลุ่มนี้ก็สุ่มเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้าน


อนึ่ง "คนจนนั้นก็เข้าใจเรื่องการป้องกันความเสี่ยง แม้จะมีข้อจำกัด เช่น การใช้หน้ากากแบบซักแล้วซักอีก จนสภาพเก่า แต่ก็ยังพยายายามใส่กันให้มากที่สุด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องปากท้อง" เพราะตั้งแต่การระบาดระลอก 2 ช่วงปลายปี 2563 งานในกรุงเทพฯ หายไปเป็นจำนวนมาก โดยช่วงปี 2561-2562 เคยมี การสำรวจที่ทาง สสส. สนับสนุน พบว่าคนไร้บ้าน ร้อยละ 90 มีงานทำ เพียงแต่ส่วนใหญ่เป็นงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ พอมีรายได้ประทังชีวิตไปวันๆ หนึ่ง และความช่วยเหลือจากผู้คนในช่วงการระบาดระลอก 2-3 พบว่าน้อยกว่าระลอกแรก ซึ่งเข้าใจได้ว่าแม้แต่คนที่ให้ความช่วยเหลือเองวันนี้ก็คงลำบากไม่ต่างกัน


"ชุมชนแออัดกักตัวไม่ได้ ต้องมีที่ให้เขาไปกักตัวอยู่ตรงกลาง แล้วต้องมีความช่วยเหลือเรื่องปากท้อง เรื่องการทำงาน อาชีพต่างๆ อย่างในคลองเตยหรือในชุมชนต่างๆ ที่ตกงานกันมหาศาล หรือกักตัวอยู่แล้วไม่มีรายได้ ทำอย่างไรให้เขามีรายได้ เอาตรงๆ พี่น้องชุมชนแออัดก็ไม่ได้ต้องการของบริจาคตลอดไป เขาต้องการทำงานเพราะการทำงานคือการมีเกียรติ มันคือการที่เขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง แสดงศักยภาพของเขา ทำอย่างไรที่เขาจะมีงานพวกนี้ ทำที่บ้านก็ได้เพื่อให้เขามีรายได้จุนเจือต่อไป" อนรรฆ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code