‘ชุมชนเข้มแข็ง’ รับมือสังคมสูงวัย
ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ อย่างเต็มตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คำแนะนำจาก "ศ.นพ.สุทธิชัย จิตพันธ์กุล" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวที "ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย" ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.นพ.สุทธิชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน และในอีก 5 ปี จะมีประชากรเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกิน 68 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดจะลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีการเพิ่มของประชากรสูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว
"ปัญหาแรกที่พบคือ อัตราส่วนของการพึ่งพา เห็นได้จากเมื่อจำนวนผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไปบวกกับจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หารด้วยคนวัยทำงานอายุ 15-60 ปี จะพบว่าคนวัยทำงานที่จะสามารถดูแลผู้สูงอายุและเด็กได้นั้นมีจำนวนน้อยลงมากทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวฝักถั่วที่มีแค่ ตายาย พ่อแม่ ลูก เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองจะมีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น นอกจากนี้ผู้หญิงจะไม่ค่อยแต่งงานหรือแต่งงานแล้วไม่อยากมีลูก ในอนาคตจึงจะมีผู้สูงอายุหญิงมากกว่าผู้ชาย 2 ใน 3 ของประชากรเลยทีเดียว"
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจพบว่าคนไทยเสียชีวิตเพราะกลุ่มโรคเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น โดยมีเหตุน่ากังวลมากกว่านั้นคือ พบอัตราการป่วยในทุกกลุ่มอายุ สิ่งเหล่านี้บอกเราว่าไม่ใช่คนเราแก่มากขึ้น แต่โรคมันขยายตัวมากกว่าที่เราตั้งรับ แปลว่าเราอาจจะแก่อย่างไม่มีคุณภาพ แก่แล้วสุขภาพไม่ดีเพราะฉะนั้นมันน่ากลัวมาก และเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเรา
ซึ่งนั่นจึงเป็นเหตุผลที่หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา "พญ.วัชรา ริ้วไพบูรณ์" ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการสะท้อนถึงการทำงานของกระทรวงต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ทุกฝ่ายต่างก็ทำงานเรื่องผู้สูงอายุกันมานานแล้ว เพียงแต่นโยบายที่เกิดขึ้นยังค่อนข้างกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ
โดย 5 กระทรวงหลักที่ร่วมกันทำงานนั้น ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ที่เริ่มมีการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนได้รับรู้ว่าสังคมของเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการสร้างความตระหนัก สอนวิธีคิด ให้แก่เด็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงวัยในอนาคตด้วย
"อีกหนึ่งกระทรวงที่หลายคนมักจะนึกไม่ออก คือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยสนับสนุนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตลอดการปรับสภาพบ้าน สภาพแวดล้อม ให้สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น"
พญ.วัชราย้ำว่า ถึงเวลาที่กระทรวงต่างๆ เหล่านี้จะเชื่อมร้อยการทำงานและร่วมกันบูรณาการเพื่อส่งต่อความห่วงใยไปยังผู้สูงอายุในท้องถิ่นต่างๆ และกระจายไปยังทุกพื้นที่ แต่นอกจากนโยบายในการทำงานแล้ว ยังต้องมีงบประมาณ กฎกติกา ระเบียบทั้งหลายที่ต้องเอื้อให้ท้องถิ่นใช้ได้จริง และการที่จะทำให้ยั่งยืนและมั่นคงได้นั้น ทุกท้องถิ่นต้องมีบทบัญญัติของตัวเอง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน
ส่วนมุมมองในระดับจังหวัด "นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์" เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร บอกว่า การทำงานกับผู้สูงอายุต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยไม่มองผู้สูงอายุว่าเป็นภาระ เพราะจริงๆแล้วผู้สูงอายุนั้นมีพลัง และถือเป็นสติปัญญาของบ้านเมือง ที่สำคัญผู้สูงอายุจะรู้ปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน จนนำไปสู่การคิดนโยบายเพื่อพัฒนาการทำงานในพื้นที่ได้เอง
"ผมเชื่อว่า ครอบครัวที่อบอุ่นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นเครือข่าย คือคำตอบของการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เพราะถ้าสังคมเข้มแข็งการเมืองจะเปลี่ยน ทุกสังคมมีพลเมืองดี หน้าที่ของพวกเรามีข้อเดียวคือ การรวบรวมคนดีเหล่านั้นมาช่วยกันร่วมคิดร่วมทำ โดยใช้ความสุขเป็นตัวชี้วัดเพื่อให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันที่มีทั้งมิตรภาพและได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน" นายสุรเดช กล่าว
"จริงๆ แล้วผมมองว่าเรื่องของผู้สูงอายุ มันเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าไม่มีใจอยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้วค่อนข้างจะเดินหน้าไปได้ลำบาก" นายชาญชัย ใช่รุ่งเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เล่าถึงการทำงานด้านผู้สูงอายุในพื้นที่และย้ำว่า วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องเป็นผู้สุงอายุ และเราต้องมองว่าผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลมากกว่านี้
"ในฐานะท้องถิ่นนอกจากเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ผมมองว่าทำไมเราไม่หันมาทำเรื่องของคุณภาพชีวิต คิดแบบนี้จึงเป็นเหตุผลที่มาทำงานเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยบูรณาการหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่มาช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ที่มีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา"
นายชาญชัยยังทิ้งท้ายด้วยว่า แค่เราทำดี อาจจะไม่เห็นผลในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่สิ่งที่ทำนั้น สักวันหนึ่งคนในชุมชนก็จะเห็นและความดีมันจะอยู่สืบทอดต่อไป และวันหนึ่งเมื่อเราเป็นผู้สูงอายุก็จะมีคนดูแลเราอย่างดีเช่นเดียวกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก