“ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน” เปิดบ้านโชว์นวัตกรรมชุมชน

เปิดบ้านชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เขตภาษีเจริญ สัมผัสนวัตกรรมชุมชน พร้อมมุ่งสู่การเป็นพื้นที่สุขภาวะเขตแรกของกรุงเทพมหานคร

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานเขตภาษีเจริญ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “เปิดบ้านชุมชนศิรินทร์และเพื่อน”  ในโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เขตภาษีเจริญ นำร่องเขตแรกของกรุงเทพมหานครฯ  ณ ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ภายในงานมีการแสดงนวัตกรรมน่าสนใจของคนเมืองที่สอดรับกับวิถีชีวิตชุมชน และกลายเป็นโอกาสในการจัดการพื้นที่ให้เป็นแหล่งรวมความสุขของคนในชุมชน ด้วยการปลูกผักลอยฟ้า ฟาร์มเห็ด ผักสวนครัว เป็นต้น

ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยามได้กล่าวถึงโอกาสที่คนเมืองกรุงได้รับจากความเจริญเชิงโครงสร้าง ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งรวมของผู้คน ที่พบทั้งความสุขและความทุกข์จากผลกระทบของความเจริญ เพราะวิถีชีวิตที่วุ่นวายกับการหาเลี้ยงชีพ การจัดการพื้นที่สุขภาวะ ให้เป็นพื้นที่ความสุขของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น

“ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เป็น 1 ใน 7 ชุมชนนำร่อง ของเขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเขตแรกของกรุงเทพมหานคร ในการขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ ซึ่งหวังว่า บทเรียนที่ได้จากการจัดการพื้นที่ จะเป็นบทเรียนและข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาพื้นที่เขตอื่น ๆ เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุงต่อไป” ดร.กุลธิดากล่าว

ทางด้าน นายประมวล เศษกลาง ประธานชุมชนศิรินทร์และเพื่อน กล่าวว่า โอกาสที่ได้เข้าร่วมในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะครั้งนี้ ช่วยต่อยอดการพัฒนาชุมชนศิรินทร์และเพื่อนเป็นอย่างมาก จากชุมชนเล็กๆ ไม่มีที่ปลูกต้นไม้ ไม่มีที่ออกกำลังกาย ต่างคนต่างอยู่ ตอนนี้คนในชุมชนมีผักปลอดภัยรับประทาน มีกิจกรรมมากมาย เป็นที่รวมใจของคน ความร่วมมือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องสร้างถึงแม้จะใช้เวลา แต่คุ้มค่ามากมาย หากผู้กำหนดนโยบายและกรุงเทพมหานครช่วยหนุนเสริมพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ กรุงเทพฯ คงเป็นเมืองสวรรค์ของผู้คนได้จริง ๆ

ทั้งนี้ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวเสริมถึงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะภาษีเจริญ มหาวิทยาลัยสยามในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ว่า ทาง ม.สยามพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อลูกหลานคนภาษีเจริญ และหวังใจว่า พื้นที่ชุมชนภาษีเจริญ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนรวมทั้งนักศึกษาที่จะรวมกิจกรรมกับชุมชน และชุมชนร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัย เป็นการผสมผสานการเรียนรู้ชีวิตความเป็นจริง ต่อยอดกับการเรียนรู้ในห้องเรียนต่อไป

 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code