ชุมชนมุสลิม‘บ้านคลองเคียน’ คิดค้น ‘นวัตกรรมสุขภาพ’
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์
ชุมชนมุสลิม‘บ้านคลองเคียน’คิดค้น‘นวัตกรรมสุขภาพ’ ใช้‘ท่าละหมาด’ส่งเสริมผู้สูงอายุสู่การออกกำลังกาย
ชุมชนคลองเคียน หมู่ที่ 1 บ้านคลองเคียน ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่งจ.พังงา เป็นชุมชนมุสลิมที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ในจำนวนประชากร 1,061 คน มีผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป 113 คน ส่วนใหญ่สามารถดูแลตนเองได้ มีเพียงไม่กี่รายที่เป็นกลุ่มติดบ้านและติดเตียง
จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุมีความเจ็บป่วยและมีปัญหาสุขภาพโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาคืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรคอ้วนที่เป็นผลมาจากการบริโภคและการออกกำลังกาย
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวชุมชนตระหนักว่าผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้นหลังจากตรากตรำทำงานมาตลอดชีวิต จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน” เมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และดำเนินโครงการ
“การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน หมู่ 1 บ้านคลองเคียน” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สุนีย์ นันทบุตร แกนนำในการขับเคลื่อนโครงการ เล่าว่าชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน แยกมาจากชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลคลองเคียน เพื่อให้การดำเนินงานมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากขึ้น ตามแนวคิด “น้องดูแลพี่” สมาชิกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าช่วยดูแลผู้ที่อาวุโสมากกว่า โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยเหลือดูแลและชักชวนผู้สูงอายุออกมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพด้วยกัน ขณะเดียวกันมีเครือข่ายให้การสนับสนุน ประกอบด้วยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ผู้นำชุมชนผู้นำศาสนา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
นอกจากดำเนินกิจกรรมตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุได้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรมด้วยกัน คือ การออกกำลังกายต่อเนื่อง ผ่านการละหมาด เป็นกิจกรรมที่ร่วมกันทำต่อเนื่องในมัสยิด 8 วัน เรียกกันว่า “ละหมาด 40” โดยใช้ท่าทางจากการละหมาดเป็นท่าออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
“แต่ก่อนผู้สูงอายุจะไม่ค่อยออกจากบ้าน พอมีกิจกรรมกลุ่มผู้สูงอายุก็จะบอกต่อๆ กัน มีการรวมตัวกันออกกำลังกายด้วยไม้พลอง การออกกำลังกายด้วยท่ายืดเหยียดฤาษีดัดตนเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย การทำสมุนไพรประคบร่วมกัน ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น ปลูกต้นมะพร้าว ทำความสะอาดมัสยิดสัปดาห์ละครั้ง ปัจจุบันนี้ทำให้กลุ่มผู้หญิงไปละหมาดที่มัสยิดมีจำนวนมากขึ้น” แกนนำผู้ขับเคลื่อนโครงการ กล่าว
ทางด้าน ไพศาล วารีศรีผู้สูงอายุวัย 69 ปี สมาชิกและที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุ กล่าวว่า หลักคิดการละหมาดคือการให้รู้จักเวลาและหน้าที่ ข้อปฏิบัติทางศาสนาสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลสุขภาพ ผู้ที่ละหมาดจะต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ท่าทางแต่ละท่าตั้งแต่ยืน นั่งคุกเข่า ก้ม เป็นการยืดเหยียดออกกำลังกาย ขณะเดียวกันการสวดมนต์ การทำสมาธิอยู่เป็นประจำ จะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพจิตดี มีความสุข กิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุที่พยายามเน้นย้ำคือ กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา เล่นกีฬาเป็นประจำ ค่ำไปมัสยิด ช่วยกิจกรรมชุมชน
“ตามความเชื่อทางศาสนา การละหมาด 40 จะทำให้ได้บุญกุศลมาก ปกติก็จะละหมาดวันละ 5 ครั้ง แต่เป็นการทำส่วนบุคคล การมาละหมาดร่วมกันในมัสยิด 8 วันติดต่อกัน ทำให้สมาชิกชุมชนได้ออกมาพบปะและรู้จักกันมากขึ้น และใช้โอกาสนี้มาออกกำลังกายร่วมกัน จะเห็นว่าแต่ละท่าของการละหมาดมีการยืดเหยียดก้ม อย่างการนั่งคุกเข่า การก้มหน้าผากถึงพื้นถ้าเป็นคนอ้วนจะทำไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ” ที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุบ้านคลองเคียน ขยายความการละหมาด 40 ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพทางกายและจิตใจ
ขณะที่ เยาวภา อินทแย้ม ผู้อำนวยการ รพ.สต.คลองเคียน กล่าวว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลคลองเคียน มีบทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการ เชื่อมโยงกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุของตำบล สอดประสานกับภาคีเครือข่าย สร้างความร่วมมือ ทั้งสภาผู้นำ อบต. กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในชุมชน
“ทางเราจะสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ สร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุว่ากิจกรรมที่ดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ให้แนวทางต่อ อสม.ในการลงพื้นที่ การดูแลผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาการดำเนินงานมีแนวโน้มประสบผลสำเร็จ เครือข่ายต่างๆ เหนียวแน่นเกิดความร่วมมือดี”
จากการดำเนินงานเบื้องต้นทำให้เกิดแกนนำชมรมผู้สูงอายุ จากหลายส่วนเกิดความเข้าใจการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุมากขึ้น
สมาชิกผู้สูงอายุเกิดความพึงพอใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกายมีผู้สูงอายุที่พึ่งพาคนอื่นเป็นผู้ป่วยติดเตียงเพียง 2 คนเท่านั้นขณะเดียวกันก็เตรียมรับสมาชิกอายุตั้งแต่ 55 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีกด้วย