ชุมชนต้องรวมใจให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ
“น้ำคือชีวิต” ไม่มีน้ำสรรพชีวิตก็ไม่อาจเจริญงอกงามได้ แต่หากมีมากจนเกินไป ก็ย่อมส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง อย่างในหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่กำลังประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมหนักอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น นครสวรรค์ อยุธยา ลพบุรี ปทุมธานีและอีกหลายๆ พื้นที่อาจจะเป็น กทม.ด้วย
เรื่องนี้นางปรีดาคงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นแกนหลัก กล่าวว่า จากการที่ได้ทำงานลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนที่น้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา ปทุมธานีอุบลราชธานี และพื้นที่กำลังประสบกับอุทกภัยหนักขณะนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นเด่นชัดในยามนี้คือ เรื่องของการมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันของคนในชุมชนด้วยกันก่อนเป็นลำดับแรกอย่างมีสติ อดทนอย่างเข้าใจว่า นี่คือภัยธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่ก็มักพบว่าเมื่อเจอปัญหาเข้ามักต่างคนต่างทำ ต่างชุมชนต่างทำแบบตัวใครตัวมันคิดถึงแต่ตัวเอง ผิดถูกก็ทำกันไป ส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันภายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเดียวกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวเชื่อมประสานให้ทุกชุมชนใกล้เคียง หันมาทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวและลดการทะเลาะกันในพื้นที่และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อน
“โดยส่วนตัวมองว่า การจะแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ตอนนี้ให้ยั่งยืนจำเป็นจะต้องเชื่อมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัด หมู่บ้านและชุมชนที่ประสบปัญหารวมถึงชุมชนใกล้เคียงทั้งหมด หันหน้ามาพูดคุยหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน สนับสนุนให้มีกระบวนการพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อจะได้แก้ไขได้ครบในหลายมิติต้องตระหนักว่านี่เป็นภัยธรรมชาติ อย่ามัวแต่จะไปโทษใครเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข” นางปรีดากล่าวนางปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิชุมชนไทได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัย ด้วยการเข้าไปพูดคุย ให้ความรู้ แนะนำ พร้อมทั้งช่วยประสานเชื่อมโยงให้ทุกหน่วยงานมาพบเจอพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ให้ทุกคนในชุมชนได้รู้เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือ และก็เป็นไปตามที่หวังไว้ เพราะชาวบ้านเกิดการตื่นตัวในการที่จะร่วมมือช่วยกันทั้งในชุมชนและละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
“เรื่องของข้อมูล ข่าวสารนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนในชุมชนจำต้องทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่กำลังจะมา ปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อจะได้หาทางป้องกันได้ถูกและทันเวลาซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านแทบไม่ได้รับข้อมูลใดๆ เลยนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้นดิฉันเชื่อว่าหากทุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสามารถเชื่อมโยงทุกๆ ฝ่ายได้ การป้องกัน รวมถึงความช่วยเหลือแก้ไขก็จะผ่านไปได้ด้วยดี”
นางปรีดาบอกด้วยว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายลง ระดับน้ำลด ภาพที่จะเห็นตามมาก็คงเป็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ทำความสะอาดบ้านเรือน ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้เข้าที่ฟื้นฟูสภาพชุมชนและรวมถึงฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในชุมชนอย่างเกื้อกูลกันอีกด้วยเพราะบางคนอาจสูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียทั้งข้าวในนา พืชผลในไร่สวน นี่แหละที่ทุกชุมชนจึงต้องรวมหัวใจสามัคคีอย่างต่อเนื่องต้องหันหน้ามารวมพูดคุยกัน ประชุมหารือร่วมกันถอดบทเรียนและสำรวจข้อมูลในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่รับน้ำ สำรวจว่าจุดไหนรับน้ำได้บ้าง มาวางแผนด้วยกัน และต้องมีแผนการปฏิบัติใช้จริง เพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนอีกน่าจะเป็นผู้นำชุมชนเช่น อบต.เป็นหน่วยริเริ่ม
“ไม่ว่าจะปัญหาภัยพิบัติใด การพร้อมรับสถานการณ์ของท้องถิ่นเองนั้นก็คือหัวใจสำคัญ หัวใจสามัคคี เพราะหน่วยงานจากภายนอกกว่าจะเคลื่อนตัวลงมาช่วยเหลืออาจต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และไม่สามารถอยู่เกาะติดกับพื้นที่ได้นาน ชุมชนจึงต้องสร้างความเข้มแข็งพร้อมรับมือด้วยตัวเองก่อน ไม่ว่าภัยใดๆ ก็ผ่านพ้นไปได้ทั้งนั้นค่ะ”นางปรีดากล่าวทิ้งท้าย
เห็นจะไม่ต้องย้ำกระมังว่าสามัคคีปรองดองกันคือกำแพงป้องกันภัยได้สารพัด
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ