ชุมชนจัดการตนเอง-พลิกฟื้นเกษตรกร
ที่มา : เว็บไซต์ไทยพีอาร์
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ไทยพีอาร์และแฟ้มภาพ
สสส.เสริมความเข้มแข็งชุมชนริมคลองเขาแก้ว บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างสอดคล้องกับพื้นที่ หนุนกระบวนการสร้างฝายมีชีวิตนำความชุ่มชื้นมาสู่เกษตรกรสองฝั่งคลอง เพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน
นายสมเดช คงเกื้อ นายกสโมสรไลอ้อนส์ จ.นครศรีธรรมราช ผู้ดำเนินโครงการ"ฝายมีชีวิตสร้างสุขชุมชนบ้านตลาด" หมู่ 1 ต.เขาแก้ว อ.ลานสกา เปิดเผยว่าพื้นที่ชุมชนบ้านตลาดและพื้นที่รอบๆประสบปัญหาการขาดน้ำ เกิดการพังทลายของตลิ่ง ในช่วงหน้าฝนก็มักมีน้ำท่วม ในขณะที่ฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำในลำคลอง แม้จะมีการขุดลอกคลองจากทางราชการทุกปี และในช่วงฤดูฝนน้ำก็ไหลผ่านคลองลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มมาคุยกันหาสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสร้างกระบวนการ สร้างเวทีประชาเข้าใจ กับประชาชนในพื้นที่ ก่อนลงมือสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งเรียกว่า"ฝายมีชีวิต" เพื่อเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
"ในฐานะที่ผมเป็นต้นคิดเรื่องฝายมีชีวิต ผมไปทำที่อื่นมาก่อน มีประสบการณ์ว่าถ้าเราจะดึงคน เราต้องใช้เวทีประชาเข้าใจ ทำเวทีขึ้นมาให้คนเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ เรื่องชุมชน ต้องทำตัวเองเป็นตัวอย่างก่อนอันดับแรก ชุมชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สนใจชุมชนเท่าไหร่ พอมีปัญหาก็มาคุยกัน คนที่อยู่ข้างคลองตั้งเป็นเครือข่ายคลองขึ้นมา แล้วมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร จุดเริ่มของโครงการมาจากจุดนี้" นายสมเดช เปิดเผยที่มาของฝายมีชีวิต
ผู้ดำเนินโครงการ"ฝายมีชีวิตสร้างสุขชุมชนบ้านตลาด" เปิดเผยต่อไปว่า เริ่มแรกของโครงการฝายมีชีวิตยังไม่มีชื่อ มีจุดเริ่มจากการพูดคุยกับชาวบ้าน 30 คน ที่หุบเขาช่องคอย อ.จุฬาภรณ์ ในเรื่องการทำฝายชาวบ้านเห็นว่าการมีฝายแม้วเป็นเรื่องดี แต่กั้นน้ำแล้วมีปัญหา ชาวบ้านไม่ชอบ เพราะว่าฝายแม้วสร้างจากทรายกับปูนผสมกันตั้งขวางทางน้ำ พอน้ำมาก็ชนหูช้างทั้งสองข้างตลิ่งก็พัง ชาวบ้านก็เข้าใจผิดว่าเป็นฝายชนิดเดียวกัน
"ผมเลยบอกไปว่าฝายผมไม่ใช่ฝายแม้ว ผมคิดอยู่ 2 วินาที คำว่าฝายมีชีวิตจึงออกมา ผมบอกไปว่าเป็นฝายมีชีวิต ชาวบ้านก็ถามว่าฝายมีชีวิตเป็นยังไง ก็ได้เล่าต่อ แต่ถ้าฝายแม้วจบตั้งแต่วันนั้นแล้ว ความจริงฝายแม้วเอาใบไม้กิ่งไม้มาขวางทางน้ำปีหนึ่งทำครั้งหนึ่ง พอน้ำมาน้ำก็จะล้นตลิ่งสร้างความชุ่มชื้น พอน้ำมามากๆ มันก็จะทลายไป ปีหนึ่งก็มาทำครั้งหนึ่ง บังเอิญว่าคนที่ดูแลงบประมาณภาครัฐไปเห็นก็มีความคิดว่าอย่างนี้มันไม่ถาวร ทำให้ถาวรดีกว่าก็เลยสร้างถาวรแต่เรียกว่าฝายแม้ว พอทำถาวรเป็นคอนกรีตไม่ศึกษาระบบนิเวศ มันก็พัง ผมก็เลยคิดต่อจากนั้น ผมคิดต่อจากงานของในหลวง เพราะฝายแม้วเขื่อนปูนมีตะกอนหน้าฝาย เราก็มาคิดว่าทำอย่างไรให้ตะกอนผ่านไปได้"ผู้ดำเนินโครงการฝายมีชีวิตสร้างสุขชุมชนบ้านตลาด กล่าว
นายสมเดช อธิบายเพิ่มเติมว่าฝายมีชีวิตมีโครงสร้างและองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องมีหูช้าง มีบันได มีเหนียวปิ้ง มีตัวฝาย หูช้างสำหรับรองรับน้ำปล่อยน้ำ มีเหนียวปิ้งไว้คุ้มครองตีนหูช้าง มีบันไดให้ปลาได้ขึ้นลง มีบันไดนิเวศด้านหน้าด้านหลัง ข้างล่างให้กุ้ง หอย ปู ปลา ขึ้นได้ลงได้ ไม่รบกวนระบบนิเวศจึงเรียกว่าฝายมีชีวิต ในฝายมีการปลูกต้นไทร ต้นไผ่ในระยะแรก แล้วให้ต้นไทรเข้าไปกินต้นไผ่เพื่อให้ต้นไม้เกาะเกี่ยวยึดติดไม่ทำให้ตลิ่งฟัง ต่อมาได้พบกับ ดร.ดำรง โยธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเอง และอาจารย์ศักดิ์พงษ์ นิลไพรัช วิทยากรกระบวนการ สถาบันการเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเอง ซึ่งคิดเรื่องเวทีประชาเข้าใจ เปลี่ยนทักษะการคิด ร่วมกันเปิดเป็นสถาบันการเรียนรู้เพื่อจัดการตนเองให้ชาวบ้านเรียนรู้ทุนของชุมชน โดยใช้ฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือ และต่อมาได้ขยายเครือข่ายฝายมีชีวิตไปจังหวัดอื่นๆอีกด้วย
คลองเขาแก้วมีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตรมีเป้าหมายในการทำฝาย 50 แห่ง ปัจจุบันในตำบลเขาแก้ว ได้ดำเนินการทำฝายไปแล้ว 2 แห่ง บริเวณหมู่ 1 ชุมชนบ้านตลาด และท่าน้ำสี่กั๊กเป็นเขตติดต่อ ต.ขุนทะเล ส่วนการกำหนดที่ตั้งฝายนั้น กำหนดตามแผนที่ทำมือ โดยชักชวนเครือข่ายคลองที่อยู่ทั้งสองฝั่งเข้ามามีส่วนร่วม มีกำนัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ความรู้ เมื่อได้แผนที่ทำมือ แล้วก็กำหนดจุดสร้างในที่มีภูมินิเวศเหมาะสม ผลจากการสร้างฝายทั้ง 2 แห่งทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล สวนผลไม้เงาะ มังคุด พืชผักที่ปลูกอยู่สองฝั่งคลองให้ผลผลิตที่นำมาบริโภคได้
"หลักการเบื้องต้นของฝายมีชีวิต มี 3 ขาคือ เริ่มจากประชาเข้าใจ ไม่เริ่มจากงบประมาณ โดยเฉพาะค่าแรง และต้องมีธรรมนูญคลอง เรื่องค่าแรงเรามีการทอดผ้าป่า เลี้ยงน้ำชา ชาวบ้านนำข้าวหม้อแกงหม้อมาเลี้ยง ผู้นำทำฝายต้องบอกให้ชัดว่าไม่ลงเล่นการเมือง งบจากทหารส่วนหนึ่ง ขอกระสอบ ขอเชือก ขอทราย พอฝายสองก็ของบประชารัฐ งบภัยแล้งมาช่วย หลังจากนี้จะให้ชุมชนจัดการ เรามี ทสม. หรืออาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ไว้คอยดูแลฝาย ส่วนการหารายได้เพื่อนำมาบำรุงฝาย ก็จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฝายมีชีวิตท่าน้ำสี่กั๊ก บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นที่ท่องเที่ยว มีร้านอาหาร เป็นโรงเรียนฝายมีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นที่ฝึกว่ายน้ำของชุมชน เรามีโครงการทำสระว่ายน้ำให้โรงเรียนต่างๆ มาร่วม เพราะน้ำมีตลอดทั้งปี โครงการต่อไปคือให้ชาวบ้านได้กลับมากินปลาโสด ปลาท้องถิ่นซึ่งเคยมีชุกชุมในแหล่งน้ำแห่งนี้ ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ตลอดลำคลองเขาแก้วนี้" ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าว