ชุมชนกองขยะ ต้นแบบเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

         /data/content/24522/cms/e_cefjknptwxy3.jpg 


           เพราะในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนจาก “ชุมชนเนินเอฟเอ็ม” หรือ “ชุมชนย่อยที่ 10 เทศบาลเมืองจันทบุรี” จำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา บ้างก็ต้องหลุดออกนอกระบบก่อนวัยอันควร เนื่องจากสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บขยะและค้าของเก่า ทำให้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ซ้ำยังถูกมองว่าเป็น “พื้นที่เสื่อมโทรม” และเป็นแหล่งรวมของสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม


           ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่น จาก “โครงการครูสอนดี” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนเนินเอฟเอ็ม ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” ในการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และอบายมุขต่างๆ จนเกิดเป็นกระบวนการทำงานที่ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ที่สามารถกระตุ้นชุมชนให้เห็นความสำคัญกับ“การศึกษา” สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่


           ดร.วิวัฒน์ เพชรศรี คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เราพบว่าในชุมชนย่อยที่ 10 มีอาชีพเก็บขยะและค้าของเก่า มีปัญหาทั้งสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกเพราะต้องหาเช้ากินค่ำ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาติดเกม เที่ยวเตร่ ท้องก่อนวัย ยาเสพติด จึงมองว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ โดยนำครูสอนดีของจังหวัดทั้ง 150 คน มาออกแบบพัฒนาหลักสูตร จำนวน 12 หลักสูตร สร้างสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ จัดตารางกิจกรรมการสอน โดยทุกวันเสาร์จะมีครู 4 ท่านจะมาช่วยกันพัฒนาในสาระการเรียนรู้ที่ตัวเองรับผิดชอบ เด็กๆเองก็ไม่เบื่อ มีความสนุกที่จะได้พบครูและกิจกรรมต่างๆที่ไม่ซ้ำกันในแต่สัปดาห์ 


          หลักสูตรการเรียนรู้ทักษะชีวิตที่เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของ “ครูสอนดี” ทั้งจังหวัด ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและคณะกรรมการของชุมชนฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและสภาพปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย งานประดิษฐ์, งานช่าง, นาฏศิลป์และการแสดงพื้นบ้าน, ดนตรี, ทัศนศิลป์, ภาษาและการสื่อสาร, กฎหมายในชีวิตประจำวัน, การป้องกันสิ่งเสพติด, เกษตรเพื่อชีวิต, ไตรลักษณ์(ศีล สมาธิ ปัญญา), กีฬาและกรีฑา และ สุขภาพอนามัย 


           “แม้ว่าการสนับสนุนโครงการของสสค.จะหมดลง แต่ครูสอนดีก็ยังเดินหน้าสานต่อการทำงาน โดยยินดีทำด้วยใจด้วยการจัดทำ ‘ล้อหมุน หนุนอาชีพ’ โดยพาเด็กในชุมชนไปเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เรียนรู้การทำกะปิ ทุเรียนทอด ร่วมกับชุมชนซึ่งเป็นการสร้างอาชีพของคนในจังหวัด” ดร.วิวัฒน์ กล่าว


           สามารถ สุนทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการชุมชนย่อยที่ 10  เล่าว่า ครั้งแรกที่จะทำให้ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบ ก็คิดว่าจะได้คุณภาพสักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อผ่านไปปีกว่าๆ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำงานของชุมชนร่วมกับ “ครูสอนดี” สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน


          “ถึงเด็กของเราบางทีอาจจะขาดเรียนไปบ้าง แต่ตัวครูเองมีความพยายามค่อนข้างสูงไม่ย่อท้อ โดยหลักสูตรที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากการนำเสนอของชุมชนว่าเด็กๆต้องการและชื่นชอบในเรื่องใด ซึ่งการทำงานตรงนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในหลายๆ เรื่อง เกิดการสร้างกลุ่มออมทรัพย์สำหรับเด็กเพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคต มีการสำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ในเรื่องของการศึกษา และหาหนทางให้เข้ากลับเข้าไปสู่ในระบบ และตัวของชุมชนเองก็มีเป้าหมายและความพยายามที่จะเห็นเด็กของเราสามารถเรียนจบปริญญาเอกให้ได้อย่างน้อย 1 คน” นายสามารถระบุ


          ตัวอย่างการแก้ปัญหาชุมชนกองขยะ ด้วยการส่งเสริมทักษะอาชีพแก่เด็กในชุมขน ถือเป็นหนึ่งในการทำงาน/data/content/24522/cms/e_adijkopqw347.jpgของคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี นอกจากนี้ยังมีระบบดูแลเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ในกลุ่มแอลดี ผ่านค่ายเครือข่ายแกนนำครู-เด็กพิเศษ เพื่อให้ครูเกิดองค์ความรู้ในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กพิเศษ และเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยมีศึกษานิเทศก์คอยติดตามดูแล และยังมีการจัดทำวิสัยทัศน์การศึกษาเมืองจันท์ เพื่อเป็นเป้าหมายและทิศทางการทำงานร่วมกันที่ว่า  “จังหวัดจันทบุรี รวมพลังชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาทั้งระบบให้เจริญงอกงามอย่างสมดุลยั่งยืน คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์จันท์ ดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่เทคโนโลยี พร้อมเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในภาคตะวันออก”


          อย่างไรก็ตามในจังหวัดจันทบุรี ผมพยายามสนับสนุนเรื่องการศึกษาเพราะในจังหวัดมีทั้งเด็กชายแดนและเด็กชายขอบ จึงได้มีการทำงานแบบบูรณาการที่ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและจัดโครงการขึ้นมาเพื่อดูแลเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งเด็กท้องก่อนวัยเรียน เด็กพิการ และเด็กออทิสติกต้องได้รับการศึกษาเหมือนทุกคนอย่างเท่าเทียม  นอกจากนี้แล้วเรายังสนับสนุนเด็กๆในระดับอุดมศึกษาให้มีโครงการกลับมารับใช้บ้านเกิดของตนเองอีกด้วย ดังนั้นหากท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่จะทำให้การพัฒนามีมากขึ้น ดังนั้นเราจะต้องเร่งผลักดันในเรื่องนี้ด้วย


 


 


          ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

Shares:
QR Code :
QR Code