ชื่นชม อบต.ดอนแก้ว ชุมชนต้นแบบปลอดบุหรี่

ที่มา โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานภาคีควบคุมยาสูบ

                  สสส. หนุนกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ชู อบต.ดอนแก้ว ต้นแบบลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ โดยใช้ชุมชนเข้มแข็งเป็นฐาน

                  นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานควบคุมยาสูบระดับเขตและพื้นที่ โดยระบุว่า กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค มีบทบาทในการขับเคลื่อนตามนโยบายควบคุมยาสูบระดับชาติ และขับเคลื่อนกลไกระดับจังหวัด ซึ่งการหนุนเสริมการทำงานของสำนักงานป้องกันควบคุม (สคร.) ในแต่ละเขต เป็นเรื่องสำคัญ มุ่งเน้นให้ สคร.เขต ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของแต่ละจังหวัด โดยกองงานฯ ได้มีการลงพื้นที่นิเทศ หนุนเสริม และติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานควบคุมยาสูบระดับเขตและพื้นที่ ทำให้พบว่า หลายพื้นที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ทั้งเรื่องการสร้างฐานข้อมูลให้เป็นชุดเดียวกันทั้งหมด รวมทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยกองงานฯ จะมีส่วนในการสนับสนุนทั้งการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การทำหลักสูตรออนไลน์สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อออกเป็นบัตรสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ผ่านหลักสูตรแล้ว ซึ่งขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ

                  นอกจากนี้ ยังพัฒนาแอพลิเคชัน ที่จะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่บันทึกและช่วยในการออกหนังสือ บันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีต่างเพื่อให้มีระบบการจัดเก็บที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารและพัฒนาศักยภาพคนทำงาน เพื่อป้องกันปัญหาการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบงานควบคุมยาสูบ

                  ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวถึงการลงพื้นที่ อบต.ดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชุมชนที่รณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่อย่างเข้มแข็ง เป็นชุมชนสุขภาวะที่บริหารจัดระบบสุขภาพได้ดี โดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน เน้นการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรื่องบุหรี่ โดยกล่าวชื่นชมการทำงานที่เข้มแข็งของชุมชนดอนแก้ว โดยเฉพาะการพยายามรณรงค์ในประเด็นบ้านปลอดบุหรี่ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันเด็กอายุ 0 – 5 ปี ให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่มือสอง พร้อมระบุว่ากฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่สามารถบังคับใช้ในบ้านหรือในรถยนต์ได้ ดังนั้นการที่ชุมชนเดินหน้าเรื่องบ้านปลอดบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและสนับสนุน ซึ่งมาตรการของชุนชนดอนแก้ว พยายามผลักดันให้ชุมชนหรือคนในบ้านจะต้องเลือกและตัดสินใจให้ลูกหลานในบ้านไม่ได้รับควันบุหรี่ จึงเป็นเรื่องที่กองงานสามารถนำไปขยายผลต่อได้

                  “เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่ง ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ผลักดันเรื่องบ้านปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในเรื่องการผลักดันเป็นกฎหมาย เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ เป็นเรื่องที่กองงานเองพยายามบูรณราการกับทางมูลนิธิฯ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และพยายามหาช่องทางประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการออกกฎหมายควบคุมประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล” นายแพทย์ ชยนันท์ กล่าวทิ้งท้าย

                  ด้าน นางญาณี ศิริวรรณ พยาบาลวิชาชีพ ผู้รับชิดชอบงานควบคุมยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ในพื้นที่ว่า ได้คัดกรองประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป พบผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 24 ในจำนวนนี้เข้ารับการบำบัด ร้อยละ 70 และสามารถเลิกสูบบุหรี่ในระยะเวลา 6 เดือนได้เพียงร้อยละ 1 ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการทำงานควบคุมยาสูบของจังหวัดอย่างมาก โดยการทำงานของจังหวัดจะมุ่งเน้นตาม 5 มาตรการ ประกอบด้วย การขับเคลื่อนกลไกการดำเนินงานควบคุมยาสูบผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด (คผยจ.) พร้อมเตรียมประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดปลอดบุหรี่

                  ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ได้ประชาสัมพันธ์ตรวจเตือนตามร้านค้าต่าง ๆ ทำให้ในปี 2565 เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายบุหรี่ลดลง การดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การบำบัดรักษา พยายามขับเคลื่อนบังคับใช้ให้สถานบริการต่าง ๆ เพิ่มการบำบัดรักษามากขึ้น เน้นการทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ การช่วยเลิกสูบ และการสร้างมาตรการทำให้ชุมชนปลอดบุหรี่ ที่นำร่องการทำงานโดยชุมชน ณ อบต.ดอนแก้ว ที่เห็นผลการทำงานค่อนข้างชัดและเตรียมขายผลต่อไป

                  “ส่วนปัจจัยความสำเร็จ อันดับแรกต้องขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมโรค ที่สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทำให้ขับเคลื่อนงานไปได้ด้วยดี ผู้บริหารของจังหวัดให้การสนับสนุน และทีมงานทุกภาคส่วนที่บูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่ มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และประชาชนตื่นตัวเรื่องการไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ” นางญาณี กล่าว

                  นางญาณี ระบุว่า แม้จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีในเรื่องการไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่นำร่อง พร้อม ๆ กับการติดป้ายตั้งแต่ทางเข้าว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่ 4 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ จีน และภาษาต่างด้าว 

                  ด้าน นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุผลที่สนับสนุนการทำงานควบคุมยาสูบในพื้นที่อย่างเต็มที่ว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่สูบบุหรี่แต่ปัจจุบันสามารถเลิกได้แล้ว ขณะเดียวกัน คนรอบตัวก็ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่เช่นกัน ทำให้ตระหนักว่าพิษภัยของบุหรี่อันตรายมากจริง ๆ และเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. จึงเดินหน้าโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินงานของ อบต.ดอนแก้ว จะใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน พร้อม ๆ กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมพื้นที่การสูบบุหรี่ เมื่อพื้นที่น้อยลงคนก็จะสูบน้อยลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันต้องหาบุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ มาสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากเลิกสูบ 

                  ขณะที่นายพรพรต จะตุเทน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลดอนแก้ว แกนนำขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในพื้นที่ ระบุว่า ตนเองติดบุหรี่มากว่า 30 ปี พยายามเลิกมาหลายครั้งเพราะร่างกายเริ่มได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ จนมาเข้าร่วมโครงการกับ อบต.ดอนแก้ว ทำให้สามารถเลิกได้ในที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะจิตใจที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ซึ่งหลังจากเลิกได้พบว่าสุขภาพดีขึ้น ออกกำลังกายได้ และยังสามารถนำเงินที่เคยใช้จากการซื้อบุหรี่มาใช้จ่ายในครอบครัวอีกด้วย 

                  นายพรพรต ระบุว่า หลังจากที่เลิกบุหรี่ได้ ก็นำประสบการณ์มาแบ่งปันให้กับลูกบ้าน พยายามชี้ให้ลูกบ้านเห็นข้อดีของการไม่สูบบุหรี่ โดยรณรงค์ร่วมกับอาสาสมัคร ที่ทำทั้งสถานศึกษา ค่ายทหาร ส่วนราชการต่าง ๆ ทำอย่างต่อเนื่องทุกปี และขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชนที่แอบสูบบุหรี่ไฟฟ้า  

                  “สิ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยความสำเร็จของ อบต.ดอนแก้ว คือ ความเข้มแข็งของชุมชน คนในชุมชนมีจิตอาสา และเมื่อชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวดูแลลูกหลาน แนะนำให้ความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น ก็ทำให้การรณรงค์ประสบความสำเร็จ หาคนสูบบุหรี่ในชุมชนยากขึ้น” นายพรพรต กล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code