ชี้โรคสมองเสื่อมอีก 1-2 ปี ผลิตยากลุ่มทดแทน

แพทย์จุฬาฯ ชี้โรคสมองเสื่อมอีก 1-2 ปี ผลิตยากลุ่มทดแทน 

แพทย์จุฬาฯชี้โรคสมองเสื่อมอีก1-2ปีผลิตยากลุ่มทดแทน

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงศ์ไชย อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการรักษากลุ่มอาการโรคสมองเสื่อม (dementia) ในงานประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน พ.ศ.2554 : จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่า โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะอายุยืนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มอาการสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดตีบ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 90 และ 2.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคซิฟิลิสสมอง หรือขาดวิตามินสูงกลุ่มนี้พบน้อยประมาณร้อยละ 10

ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาเพิ่มสารสื่อประสาทเกี่ยวกับความจำ จำพวกยากลุ่มโดเนพิซิล (done pezil) ไรวาสทิกมีน (rivastigmine) กาแลนตามีน (galantamine) แต่ปัญหาคือ ยากลุ่มเหล่านี้เป็นยานอกบัญชียาหลัก แต่เชื่อว่าอีกประมาณ 1-2 ปีจะมียาชื่อสามัญ (local made) ที่หมดสิทธิบัตรแล้ว นำเข้าวัตถุดิบมาบรรจุในประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีแนวทางการบำบัดรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย ที่น่าสนใจคือการนวดในลักษณะการนวดผ่อนคลาย ร่วมกับการฟังเพลง เรียกว่า massage and music therapy ซึ่งสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศมีการทดลองทำวิธีนี้ซึ่งพบว่ามีผลทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีความจำที่ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดีขึ้น และการรับรู้เพิ่มมากขึ้นขณะที่ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกันแต่เน้นการนวดแผนไทยเพียงอย่างเดียว โดยโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา

“ที่น่าสนใจอีกแนวทาง คือ ในประเทศแถบยุโรป อเมริกา ศึกษาแนวทาง light therapy หรือการใช้แสงสว่าง สามารถทำให้ความจำของผู้ป่วยดีขึ้น โดยนำผู้ป่วยไว้ภายในห้องที่ถูกสร้างขึ้นพิเศษ และเปิดไฟที่มีความสว่างมากในระดับหนึ่ง เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงแสงสว่างว่า ช่วงไหนคือกลางวันกลางคืนเป็นการกระตุ้นศูนย์รับรู้ที่สูญเสียไปจากภาวะสมองเสื่อม แต่ยังเป็นเพียงงานวิจัยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” ผศ.นพ.สุขเจริญกล่าว

ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายทำได้เพียงให้อาการดีขึ้น เป็นกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ ว่าเพราะเหตุใดสมองถึงสร้างโปรตีนที่เป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอัลไซเมอร์ได้ ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของแพทย์ที่ทำการรักษาเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรง  ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ยาที่ใช้รักษาเกี่ยวกับความจำก็ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลัก การให้ยากับผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และอีกปัญหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ สังคมไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ มองว่าการที่คนแก่ความจำเสื่อมเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วอัลไซเมอร์คือโรคที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและมีความเจ็บปวดกับภาวะที่เป็นมากเช่นกัน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code