ชี้เด็กประถมเล่นเกมออนไลน์ 1 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน
เผยมาตรการป้องกันเด็กติดเกม
นอกจากพี่เลี้ยงจอแก้ว เห็นทีเด็กไทยจะได้พี่เลี้ยงใหม่ เป็นพี่เลี้ยงไซเบอร์ เพราะขณะนี้เด็กไทยใช้เวลาและเงินส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมและยิ่งอยู่คนเดียวก็สามารถเล่นข้ามวันข้ามคือได้
จากข้อมูลเด็กอายุ 12-17 ปีในสหรัฐอเมริกาเล่นเกมโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเด็กผู้หญิงเล่นเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เด็กผู้ชายเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เด็กผู้ชายชอบเล่นวีดีโอเกมที่มีความรุนแรงและเล่นเกมมากกว่าเด็กผู้หญิง
ในส่วนของไทย จากการสำรวจของสถาบันรามจิตติ ปี 2548-2549 พบว่ากว่า 50% ของเด็กที่เล่นเกมอยู่ในวัยประถมศึกษาเท่านั้น ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้นมีประมาณ 47% และอาชีวะศึกษามีประมาณ 43% ของประชากรกลุ่มนี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านี้คือ เวลาที่ใช้ในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์หรือออฟไลน์ และเกมอื่นๆ ของเด็กประถมใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ในขณะที่มัธยมศึกษาตอนต้น และอาชีวะศึกษาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่แต่ละวันคนเรามีเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงอย่างน้อย 1 ใน 3 ให้สำหรับการนอนหลับพักผ่อน อีก 1 ใน 3 สำหรับวัยนี้ก็อยู่กับการเรียน แล้วส่วนที่เหลืออยู่หมดไปกับการเดินทาง การทำกิจกรรมวิ่งเล่นกับเพื่อน การอยู่กับครอบครัว หรือพักผ่อน ฯลฯ
เมื่อลงลึกในรายละเอียดเฉพาะเกมออนไลน์โดยเฉพาะ พบว่า เยาวชนไทย 7-21 ปี ในกทม.และปริมณฑล นิยมเล่นเกมออนไลน์เป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบที่สุด และเล่นกันมากถึง 1,451,179 คน เฉลี่ยเล่นวันละ 4.5 ชั่วโมงต่อวัน แต่ละเดือนหมดไปกับค่าเล่นเกมเฉลี่ย 1,114 บาท
เมื่อดีมานสูง ซัพพลายก็ย่อมสนอง จึงทำให้ในละแวกบ้านเฉลี่ยมีร้านเกมมากถึง 5 ร้าน และใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปถึงร้านไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น
ทุกคำตอบของปัญหาจึงพุ่งไปที่ผู้ปกครองที่อยู่ร่วมกับเด็กตลอดเวลาว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถพาลูกหลานออกจากการติดหนึบจากเกมได้แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่ยอมรับว่า ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เด็กเล่นอย่างจริงจัง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เล่นกันเกินเวลาที่ผู้ใหญ่คิดไว้ รวมถึงไม่สนใจเนื้อหาและการจัดเรตติ้งของเกมต่างๆ ที่ลูกๆ หลานๆ กำลังเล่นอยู่ด้วย
หากในแต่ละวันเด็กและเยาวชนไทยใช้เวลาในการเล่นเกมเพิ่มมากขึ้นย่อมเบียดบังเวลาทำกิจกรรมอื่นให้ลดลง จนเกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้และการพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดผลกระทบด้านการเรียน ติดยา ไม่มีทักษะในการใช้ชีวิต ทั้งด้านความคิด การตัดสินใจ เจตคติ การกระทำและการแสดงออกพฤติกรรมด้านต่างๆ นำสู่ปัญหาติดยาเสพติด พฤติกรรมก้าวร้าว การทำร้ายร่างกายและการละเมิดทางเพศ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ฯลฯ ซึ่งบางครั้งความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับแนวทาง มาตรการในการป้องกันเด็กติดเกม สำหรับผู้ปกครองควรใช้บันได 3 ขั้นเบื้องต้นในการเยียวยาปัญหาลูกหลานที่ติดเกมได้แก่ ขั้นที่ 1 การสร้างสัมพันธภาพภายในครอบครัวโดยเฉพาะกับเด็กด้วยการจับถูก มากกว่าจับผิด ขั้นที่ 2 การสร้างข้อตกลงร่วมกันที่ถูกต้องเหมาะสมและการติดตามด้วยแรงเสริมบวก ขั้นที่ 3 การมีพื้นที่กิจกรรมที่สามารถให้แสดงออกที่หลากหลาย
ข้อสรุปแนวทางและมาตรการการป้องกันเด็กติดเกมในหลายระดับเริ่มจาก ระดับเด็กวัยรุ่น ควรจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ทางเลือกที่หลากหลายเข้าถึงง่าย การได้รับการฝึกแบบฝึกหัดชีวิต เช่น ทักษะชีวิตวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสม และการขจัดความเครียดที่หลากหลาย ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ อย่างน้อย 30 นาที ทุกวัน
ระดับพ่อแม่ ให้เวลาและความสำคัญในการพูดคุยกับลูก 15-31 นาที สม่ำเสมอทุกวันหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ร้องเพลง ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำสวน ทำอาหาร รวมถึงการกำหนดกรอบกติกาด้วยวินัยเชิงบวกที่เหมาะสำหรับวัยรุ่น เช่น การจัดสิ่งแวดล้อม (ไม่มีทีวี อินเตอร์เน็ตในห้องนอน ให้อยู่ที่ส่วนกลางของบ้าน) ตกลงกติการ่วมกับวัยรุ่น (เล่นวันละ 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น รวมทั้งความเหมาะสมในเนื้อหาของเกม)
ระดับโรงเรียน เปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมกีฬาที่หลากหลาย โดยร่วมมือกับชุมชน หรือการสร้างแนวร่วมกับชุมชนในการใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์กับกิจกรรมการเรียน แทนการเล่นเกม หรือจะจัดชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อช่วยกันดูแล
ระดับชุมชน ควรจัดระบบเฝ้าระวังและจัดการระดับชุมชน รณรงค์ร้านอินเตอร์เน็ตสีขาวไปพร้อมๆ กับการกำหนดปริมาณร้านและกำหนดเวลาในการเล่นของเยาวชนได้ ขณะเดียวกันจัดกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ ในชุมชนที่หลากหลาย กำหนดพื้นที่ในทุกชุมชนทั้งประเทศเพื่อทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก เยาวชน และครอบครัว
ระดับประเทศ ต้องกำหนดมาตรการควบคู่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการควบคุมลักษณะของเกมที่เหมาะสมกับวัยและจำกัดเวลาและจัดกิจกรรมรณรงค์ที่สร้างสรรค์ให้กับทุกตำบลทั้งประเทศพร้อมกับรณรงค์กิจกรรมระดับครองครัว ส่งเสริมให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการสื่อร้ายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ตัวอย่างกิจกรรมที่ต้องรีบเร่งในการรณรงค์ให้เกิด เพื่อลดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน อาทิ โครงการสร้างทักษะการขจัดความเครียดให้กับเด็ก, โครงการจิตอาสากับชุมชนและวัดใกล้บริเวณโรงเรียน, โครงการปิยวาจาระดับบ้าน, โรงเรียนและชุมชน, โครงการทักษะการดูแลเด็กและเยาวชนแบบวินัยเชิงบวก, โครงการเฝ้าระวัง/ติดตามของเครือข่ายผู้ปกครอง, โครงการเฝ้าระวัง/ติดตาม ของครูในโรงเรียน และโครงการกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตรหลังเลิกเรียน เช่น ดนตรี กีฬา วาดรูป ร้องเพลง และอื่นๆ
เรื่องเกมอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก หรือเรื่องของเด็กๆ ต่อไปอีกแล้ว เพราะหลายฝ่ายมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 21-08-51