ชี้พิษน้ำท่วมพบผู้ป่วยพุ่งทะลุ 1 แสนราย
อุตฯ เตือนยังมีฝนตกต่อเนื่องในหลายจังหวัด
อุตฯ เตือนพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะ ตาก สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ลพบุรี และปราจีนบุรี ยังคงต้องระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในระยะนี้ ด้าน สธ. เผย รอบ 10 วัน ยอดผู้เจ็บป่วย พิษน้ำท่วมพุ่งทะลุ 1 แสนรายแล้ว ย้ำ สนง.สาธารณสุขทั่วประเทศ พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ ลพบุรี ยังวิกฤติ น้ำเน่าเสีย เร่งสร้างสุขาลอยน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันโรคระบาด
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศประจำวันโดยระบุว่าร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศยังคงมีฝนตกต่อไปอีก และมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะบริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ลพบุรี และปราจีนบุรี ยังคงต้องระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังค่อนข้างแรงโดยเฉพาะ ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ขอให้ชาวเรือระวังอันตรายในการเดินเรือในช่วงวันที่ 21 – 24 ก.ย.นี้ไว้ด้วย
ส่วน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว. สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วย แจกจ่ายยาสามัญประจำบ้านเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งทุกจังหวัดมีสำรองไว้อย่างเพียงพอ แต่หากสถานการณ์รุนแรงมีประชาชนเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น ให้ขอสนับสนุนเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยศูนย์ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วจำนวน 47,200 ชุด สำรองไว้อีก 1 แสนชุด
ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ในรอบ 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 20 ก.ย.ที่ผ่านมา สธ.ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 773 หน่วย มีผู้เจ็บป่วยมารับบริการ 123,407 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่น้ำกัดเท้าร้อยละ 41 รองลงมาเป็นไข้หวัดร้อยละ 32 และผื่นคันร้อยละ 11 เฉพาะวันที่ 20 ก.ย. มีผู้เจ็บป่วยมารับบริการ 69,461 ราย โดยได้มอบหมายให้ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 7 หมื่นตลับ นอกจากนี้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทำให้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต้องพายเรือออกไปปฏิบัติงาน โดยสมาคมแม่บ้าน สธ.จะนำเสื้อชูชีพไปมอบให้กับทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฯ จำนวน 50 ตัว ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ลพบุรี ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ สำหรับจังหวัดที่ต้องการขอเสื้อชูชีพสามารถติดต่อ ได้ที่สมาคมแม่บ้าน สธ.
ขณะที่ นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” เปิดเผยว่า บริษัทได้นำทีม ผู้บริหารและพนักงานไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยนำถุงยังชีพบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค 2,750 ถุง ไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนใน อ.ท่าวังผา อ.ภูเพียง จ.น่าน อ.วังทอง อ.วังพรหมพิราม จ.พิษณุโลก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รวมทั้ง อ.บ้านหมี่ อ.โคกสำโรง และ อ.เมือง จ.ลพบุรี นอกจากนี้ยังนำน้ำดื่ม 2,000 ขวด ไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยใน จ.หนองบัวลำภู เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ขณะเดียวกันจะระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อื่นต่อไป
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ขอนแก่น นายดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระราชูปถัมภ์และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมพร้อมมอบถุงยังชีพ “พระราชทาน”จำนวน 2,000 ชุด แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่หอประชุม อบต.โนนสมบูรณ์ อ.บ้านแฮด ด้านนายเจตน์ ธนวัฒน์ ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดว่ามีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 6 อำเภอ 48 ตำบล 457 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมือง บ้านแฮด ชนบท โนนศิลา มัญจาคีรี และบ้านไผ่ ราษฎรเดือดร้อน 39,925 ครัวเรือน ถนนชำรุดเสียหาย 143 สาย ฝาย 6 แห่ง สะพาน 3 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตร 125,920 ไร่ บ่อปลา 3,836 บ่อ โดยทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรือท้องแบนออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดระดับน้ำได้ลดลงเป็นระยะคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีกจะเข้าสู่สภาวะปกติใน 1 สัปดาห์
ขณะที่ นายอธิคม สุพรรณพงศ์ ผวจ. หนองบัวลำภู พร้อมคณะเดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานถุงยังชีพมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยให้กับ จ.หนอง บัวลำภู 1,000 ถุงให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เมือง นาวัง สุวรรณคูหา และนากลาง สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ในหลายพื้นที่ อ.เมือง ศรีบุญเรือง ยังถูกน้ำท่วมขัง ทำให้การสัญจรไปมาลำบากและขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคไร่นาหลายหมื่นไร่ได้รับความเสียหาย ซึ่ง ผวจ.หนองบัวลำภู ได้มอบหมายให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งสำรวจและรายงานเพื่อให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป
ด้าน จ.ชัยภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ในจังหวัดถูกน้ำป่าเข้าท่วม 15 อำเภอ 106 ตำบล 513 หมู่บ้าน โดยในเขตเทศบาลเมือง มีระดับน้ำสูงประมาณ 50 – 80 เซนติเมตร ส่วน รพ. ชัยภูมิ ถูกน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร ทำให้เครื่องซักผ้าใช้การไม่ได้ ต้องส่งเสื้อผ้าผู้ป่วยและวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็นไปซักที่ รพ.ชุมชนใกล้เคียง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและญาติ โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดและทหาร กำลังระดมสูบน้ำออก อย่างไรก็ตามทาง รพ.ยังยืนยันว่าสามารถให้บริการประชาชนได้ 24 ชั่วโมง
ที่ จ.มหาสารคาม นายรังสรรค์ เพียรอดวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่ อ.กันทรวิชัย เพื่อสำรวจความเสียหายพร้อมมอบถุงยังชีพให้กับ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมกล่าวว่าได้ประกาศให้พื้นที่ 13 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 112 ตำบล 1,365 หมู่บ้าน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 74,049 ไร่ โดยทางจังหวัดได้เข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทุกจุดเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนต่อไป
ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดได้มีการสั่งปิดถนนสายลำปลายมาศ – ห้วยแถลง แล้ว หลังน้ำเหนือจากเขาใหญ่ ลำปะเทีย และลำน้ำสาขาหลายแห่ง ไหลลงสู่ลำน้ำมาศ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อท่วม สะพานเชื่อมต่อระหว่าง อ.ลำปลายมาศ กับ อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา บริเวณ บ้านไผ่น้อย ต.หนองคู สูงเกือบ 1 เมตร เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ประกอบกับกระแสน้ำไหลเชี่ยว เกรงว่าประชาชนผู้สัญจรจะได้รับอันตราย ด้านนายสถาพร ชุมอุปการ นอภ.ลำปลายมาศ ระบุว่าได้แจ้งเตือนให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณริมลำน้ำมาศ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมอพยพขนย้าย สิ่งของ และสัตว์เลี้ยงไปยังที่สูง เพราะเกรงว่าน้ำจะไหลบ่าลงมาอย่างรุนแรงจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้
ขณะที่นายกวี กิตติสถาพร ผวจ.นครสวรรค์ พร้อมคณะเหล่ากาชาดจังหวัด นำข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำดื่ม ไปมอบให้กับประชาชน 6 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก ที่ประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จำนวน 1,200 ชุด พร้อมทั้งได้นำบริการด้านสุขภาพไปตรวจรักษาฟรีให้ประชาชน ที่ประสบภัยด้วย พร้อมเปิดเผยว่าขณะนี้ จ.นคร สวรรค์ มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว 6 อำเภอ 29 ตำบล 192 หมู่บ้าน โดยทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
ด้าน จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่มีบางแห่งโดยเฉพาะที่บ้านซำเตย หมู่ 10 ต.วังทอง อ.วังทอง มีชาวบ้านหลายสิบราย ได้ติดป้ายประกาศขายที่นา เนื่องจากเบื่อน้ำที่ท่วมเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่าที่บ้านหนองพระ อ.วังทอง ระดับน้ำยังคงท่วมพื้นที่ทางการเกษตรหลายร้อยไร่ ทั้งนี้เนื่องจากระบายน้ำออกไม่ทัน จากการตรวจสอบมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 อำเภอ 37 ตำบล 232 หมู่บ้าน พื้นที่ทางการเกษตร 30,000 ไร่ เสียหายโดยสิ้นเชิง
ส่วน จ.จันทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ที่เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและถนนหนทางในพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด ขณะนี้ได้เริ่มลดระดับลงบ้างแล้วในหลายพื้นที่ ถนนหนทางต่างๆ ก็สามารถสัญจรได้ตามปกติ มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้น ที่ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้น จากเดิม เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ด้านนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผวจ.จันทบุรี ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางระบายน้ำ ก่อนลงสู่ทะเลในหลายพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำ ป้องกันปริมาณน้ำที่อาจจะสูงขึ้นอีกหากเกิดฝนตกลงมาในวันนี้
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำใน จ.ลพบุรี ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยพบว่ายังมีประชาชนเดือดร้อนใน 3 อำเภอได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านหมี่ และ อ.โคกสำโรง ในหลายหมู่บ้านยัง มีระดับน้ำที่สูงกว่า 1.50 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจร และจากการที่น้ำท่วมขังมาเป็นเวลาหลายวันทำให้เริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น นอก จากนี้ยังมีปัญหาเรื่องห้องสุขาที่หายากและไม่เพียงพอ จนชาวบ้านเริ่มเกิดความเครียด ล่าสุดทางจังหวัดได้ให้วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีจัดสร้างห้องสุขาลอยน้ำ 40 ห้อง เป็นการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันโรคระบาด ด้าน นายสถิร วีระเดช ผอ.สำนักชลประทานที่ 10 จ.ลพบุรี เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่าทางกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำอย่างเร็วที่สุดโดยนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่า 50 เครื่อง มาทำการระบายน้ำ คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกหนักอีกจะใช้เวลาในการระบายน้ำให้เข้าสู่สภาวะปกติประมาณ 15 วัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 22-09-51