ชี้บารากู่อันตรายเท่าบุหรี่!
ส่งผลหัวใจเต้นถี่ และอาจตายได้
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยงานวิจัยล่าสุด โดย ดร.ฮิลลารี แวร์ลิง ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือควบคุมยาสูบของอังกฤษพบว่า การสูบบารากู่ทำให้ได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ในระดับ 40 – 70 ppm หรือ 40 – 70 ส่วนในอากาศล้านส่วน มีผลทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ปกติสูงถึงร้อยละ 8 – 12 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ ในผู้สูบบุหรี่ที่สูบหนัก ซึ่งจะได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ในระดับ 30 – 40 ppm หรือ 30 – 40 ส่วนในอากาศล้านส่วน ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ปกติเท่ากับร้อยละ 5 – 7
ทั้งนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ใน 10 ส่วนในอากาศล้านส่วน (10 ppm) จะเป็นพิษต่อร่างกาย โดยจะเข้าแทนที่ออกซิเจนในกระแสโลหิต ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับก๊าซออกซิเจนได้ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นเหียน ตาพร่า ความคิดสับสน ประสาทหลอน ร่างกายอ่อนแอ หัวใจเต้นถี่ เป็นลมหมดสติ ถ้าได้รับปริมาณมาก ๆ จะมีอาการชักกระตุก หัวใจเต้นอ่อนแรง การหายใจช้าลง และเสียชีวิตได้
ขณะที่ในงานประชุมบุหรี่แห่งชาติครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 – 25 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษาการใช้บารากู่ของเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษา สายอาชีพ และมหาวิทยาลัย จำนวน 754 คน พบว่านักเรียนมัธยมก็รู้จักบารากู่กันแล้ว และยังพบว่าเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายเพราะมีร้านขายอยู่ติดกับสถานศึกษา แถมบางร้านยังอยู่ในบริเวณหอพักนักศึกษาอีกด้วย พบสถานการณ์การใช้บารากู่ที่น่าเป็นห่วงกับวัยรุ่น คือ สิ่งนี้กลายเป็นแฟชั่นของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จะมีการสูบและดื่มเมื่อเที่ยวกลางคืน พร้อมทั้งสูบบุหรี่ด้วย โดยในปัจจุบันร้านเหล้าทั่วไปมักให้บริการบารากู่ร่วมด้วย เพื่อสร้างความแปลกใหม่ในบริการ
นอกจากนี้ ยังพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่คิดว่า บารากู่ไม่อันตรายเพราะสูบผ่านน้ำ และคิดว่าเป็นผลไม้ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์เป็นรูปผลไม้ นอกจากร้านเหล้ายังมีช่องทางจำหน่ายหลายทางแม้แต่ในอินเตอร์เน็ต และยังพบว่าขณะนี้บารากู่ได้ระบาดไปยังเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีแล้ว ทั้งนี้บารากู่เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย ตำรวจและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ควรนิ่งเฉยอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
update 04-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์