ชี้ช่องแก้ไม่เท่าเทียมหญิงชาย ชูบทบาทสตรี
เอ็นจีโอถก “ทิศทางกองทุนสตรีร้อยล้าน” ควรเน้นแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมหญิงชาย พัฒนาสิทธิกลุ่มสตรี มากกว่าสร้างอาชีพ แนะ”นายก”นั่งประธานเอง เปิดโอกาสการเข้าถึงแก่ภาคประชาชน เสนอพิจารณากฎหมายใหม่แก้ปัญหาตรงจุด พร้อมชูบทบาทผู้หญิงมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่นมากขึ้น
วันนี้ (17 ส.ค.54) ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ร่วมกับกลุ่มผู้หญิง เครือข่ายชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ทิศทางกองทุนพัฒนาสตรี เสียงจากภาคประชาชน”
โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์หาเสียงกับกลุ่มสตรีทั่วประเทศให้มีกองทุนสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงกำลังจับตาและตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันผลักดัน เพื่อให้กองทุนพัฒนาสตรีแปลงจากนโยบายสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนของเครือข่ายสตรีในแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นประโยชน์กับกลุ่มสตรีทั่วประเทศโดยรวมมากที่สุด
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนทำงานด้านสตรีมานานจึงเห็นด้วยกับนโยบายกองทุนส่งเสริมบทบาทสตรีโดยตั้งงบสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท แต่อยากให้เป้าหมายของกองทุนมีความชัดเจน และสามารถแก้ปัญหาได้จริง ไม่ควรจำกัดอยู่แค่เรื่องส่งเสริมรายได้ หรือพัฒนาอาชีพเท่านั้น เพราะเรื่องดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งมีกองทุนอื่นๆทำอยู่แล้ว ควรเน้นการแก้ที่รากของปัญหาหลักที่เกิดกับผู้หญิงซึ่งมาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง นำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดสิทธิทางเพศ เอาเปรียบเรื่องค่าแรง การค้ามนุษย์ และการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ควรเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพ สิทธิของผู้หญิง ให้รู้ว่ามีสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างไร เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน อีกทั้งควรเน้นเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อสร้างองค์กรผู้หญิงให้เข้มแข็ง นำไปสู่การเกิดศักยภาพผู้หญิงให้รู้จักปกป้องตัวเองและชุมชนได้
“นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มสตรีต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้มากนัก เนื่องจากอยู่ภายใต้ระบบราชการทำให้เกิดการเข้าถึงได้ยาก เพราะมีกฎระเบียบมาก หรืออาจจะขาดการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้โดยทั่วกัน กองทุนจึงอยู่ในแวดวงที่จำกัดจนไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนั้น เราจึงมองว่ารูปแบบที่สำคัญควรเป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ โดยเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฯเอง เนื่องจากนายกเป็นผู้หญิงจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาสตรี นอกจากนี้คณะกรรมการกองทุนก็ควรจะมาจากความหลากหลาย หรือมาจากองค์กรที่มาจากองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้านที่เป็นกลุ่มผู้หญิง หรือกลุ่มสตรีที่มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง กลุ่มที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มที่มาจากแรงงานหญิง เป็นต้น เพราะหากขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว ก็จะนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบเดิมๆ” นายจะเด็จ กล่าว
ด้านนางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการ มูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีกองทุนหลายด้านที่เกิดขึ้นจากการบัญญัติเป็นพระราชบัญญัติ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.การจัดสวัสดิการสังคม พ.ร.บ.ส่งเสริมคนพิการ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จึงเห็นว่ากองทุนสตรีก็ควรจะมีกฎหมายรองรับเช่นกันเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าเรื่องผู้หญิงอย่างยั่งยืน และล่าสุดภาคเอกชนกำลังร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับประชาชนขึ้น ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ นอกจากการคุ้มครองสิทธิแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนนำไปสู่การทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศด้วย นอกจากนี้ยังคุ้มครองป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติหรือมีความเป็นธรรมระหว่างเพศ รวมถึงความรุนแรงเรื่องเพศ ช่วยเหลือบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เช่น การถูกเลือกปฏิบัติจากการทำงาน การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการทำงานจนทำให้ต้องออกจากงานหรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นต้น ดังนั้นเราจึงต้องการเสนอให้เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลควรนำไปพิจารณาด้วย
ขณะที่นางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดให้ความสำคัญกับการมีกองทุนอาชีพเป็นหลัก แต่เป็นอาชีพที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงก้าวหน้ามากนัก เช่น การทำผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน และการทำน้ำเต้าหู้ เป็นต้น ดังนั้นอยากให้กระบวนการในการพิจารณากองทุนนั้น ส่งเสริมด้านความรู้ความเข้าใจในบทบาทหญิงชายให้มีความชัดเจน ตลอดจนมีความกล้าหาญที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง และพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรต่างๆ นอกจากนี้ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะต้องการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระดับนโยบาย เพื่อรักษาผลประโยชน์หรือตรวจสอบงานในระดับท้องถิ่นไม่ให้บริหารจัดการงบประมาณตามอำเภอใจ โดยลืมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ