ชี้คนอ้วนเสี่ยงโรคเหงือกชนิดรุนแรงสูง
ทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
สำนักข่าวบีบีซีออนไลน์รายงานผลการศึกษาล่าสุดจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งพบว่าอัตราการเป็นโรคอ้วนของประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมีความสอดคล้องกันกับอัตราการเป็นโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนแรงที่พบว่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เป็นการวิจัยที่ทำในห้องปฏิบัติการโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันและผลการวิจัยที่ได้นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิชาการวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งผลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าโรคอ้วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสัตว์ทอดลองมีความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ต่ำลง
สำหรับโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนรงนั้นมีความน่าเป็นห่วงตรงที่ว่ามีงานวิจัยในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆระบุว่ามีความสัมพันธ์กับโรคร้ายแรงอื่น ๆ เป็นต้นว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นจากติดเชื้อในช่องปาก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นักวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคติดเชื้อในช่องปากกับโรคอื่นๆ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกระจ่างนักเกี่ยวกับกลไกการเปลี่ยนแปลงทางระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีผลทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอื่น ๆด้วย
แต่ในการศึกษาล่าสุดโดยทีมจากมหาวิทยาลัยบอสตันนี้นักวิจัยได้ศึกษาลึกลงไปในรายระเอียดในระดับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อหาความแตกต่างกันระหว่างการเกิดโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนแรงในหนูที่ไม่อ้วน และหนูที่จัดว่าเป็นโรคอ้วน โดยดูจากปฏิกิริยาร่างกายเมื่อมีการติดเชื้อ p. gingivalis
ในการทดลองนั้นนักวิจัยได้เอาวัสดุที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียสำคัญตัวดังกล่าวนี้ไปห่อหุ้มไว้ที่บริเวณเหงือกของหนูทดลองเพื่อดูว่ามันติดเชื้อโรคนี้ในที่สุดหรือเปล่า และผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าหนูที่เป็นโรคอ้วนมีระดับแบคทีเรีย p. gingivalis ในปากสูงกว่าและนอกจากนี้ยังเกิดการสูญเสียกระดูกบริเวณรอบ ๆ ฟันของพวกมันซึ่งเป็นอาการข้างเคียงของการติดเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่าหนูที่เป็นโรคอ้วนมีระดับของสารเคมีในระบบภูมิคุ้มกันบางอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เป็นสารภูมิคุ้มกันร่างกายที่จะถูกหลั่งออกมาเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อในร่างกาย
นักวิจัยเขียนในสรุปผลการวิจัยว่า “ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโรคอ้วนมีผลไปขัดขวางความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในการตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรีย p. gingivalis”
“ความสำคัญของผลการวิจัยนี้ถูกตอกย้ำเข้าไปอีกโดยข้อเท็จจริงที่ว่าคนหลายล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นประจำอยู่ทุก ๆ ปีไป และยิ่งไปกว่านั้นอุบัติการของโรคนี้ในทั่วโลกถือว่าเข้าขั้นที่เรียกว่าโรคระบาดแล้ว” นักวิจัยกล่าว
นอกจากที่ผลการวิจัยนี้จะชี้ว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคนเป็นโรคอ้วนมีความอ่อนแอต่อการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้แล้วยังมีความเป็นไปได้อีกว่าภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอลงย่อมจะทำให้คนสามารถติดเชื้อหรือต้านทานต่อเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ ได้น้อยลงอีกด้วย
ที่มา
ข้อมูลจาก : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 12-12-50