ชีวิตวิถีใหม่กับนักศึกษาวัย GEN Z
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
จากสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่เราเรียกว่า วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่นเดียวกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่ต้องหันมาใช้การเรียน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น
อาจารย์ธณิดา พุ่มท่าอิฐ รองคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า นักศึกษาใหม่ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ คือเด็ก Gen Z นักศึกษาใหม่กลุ่มนี้จะเติบโตมาพร้อมกับ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเค้าจะอยู่บนโลกออนไลน์ มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว มีความคิดเปิดกว้าง กล้าแสดงออก มั่นใจในตัวเองสูง ความอดทนต่ำ ชอบการเรียนรู้จากเรื่องประสบการณ์มากกว่า ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในชั้นเรียนหรือการอบรม
นักศึกษาใหม่กลุ่มนี้ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ช่วงปลายมัธยมศึกษา ด้วยการสอบปลายภาคระดับมัธยมศึกษาออนไลน์ จนเข้าสู่เส้นทางการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาสมัครในระบบออนไลน์ สัมภาษณ์ระบบออนไลน์ ด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งนักศึกษาใหม่ สวนใหญ่ สามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ในขณะเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาเกือบทุกแห่งก็ระดมสรรพกำลังทั้งด้านกำลังทรัพย์ กำลังคน เพื่อวางออกแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในภาคการศึกษาที่ 1 ของปีการศึกษา 2563
มีการวางแผนสำหรับจัดการปฐมนิเทศออนไลน์ รับน้องออนไลน์ ไหว้ครูออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เป็นรูปแบบออนไลน์เป็นเกือบทั้งหมด จากสิ่งแวดล้อมการเติบโตของนักศึกษาใหม่ GEN Z ที่ได้กล่าวข้างต้น และการปรับตัวตามสถานการณ์โลก ดูเหมือนว่า นักศึกษาใหม่ GEN Z น่าจะคุ้นชินกับการเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่างๆ ตามแนววิถีใหม่แล้ว แต่อย่าลืมว่า การเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตการศึกษาจากเด็กมัธยมศึกษา เป็นนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
วิธีการเรียนการสอนเนื้อหาการเรียนรู้เปลี่ยนไป และยังเป็นการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตประจำวัน ของเด็กส่วนใหญ่ที่แตกต่างจากเดิม เนื่องจาก บางคนมาจากต่างจังหวัด มาอยู่หอกับเพื่อนใหม่ จากที่เคยอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา จากประสบการณ์จะพบว่านักศึกษาใหม่ ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย จะรู้สึกเหงาว้าเหว่ คิดถึงบ้าน รู้สึกกลัว และวิตกกังวลซึ่งเป็นธรรมชาติของบุคคล ที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต
ถ้านักศึกษาใหม่ไม่สามารถปรับตัวได้ อาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษา สมาธิในการเรียนลดลง ส่งผลต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล จากผู้ที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวน 605 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ในภาวะวิกฤติโควิด-19 นักศึกษามีความพร้อมในการเรียนการสอนเพียง 60.33% ที่ไม่พร้อมอีก 39.67% โดยให้เหตุผลว่ากลัวเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ชัดเจน
โดยเฉพาะวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติ 30.70% กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย 23.25% ชอบเรียนแบบมีเพื่อน มีสังคม จะเห็นได้ว่านักศึกษาใหม่ยังมีความกังวล กับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยตามแนววิถีใหม่ รวมทั้งความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายครอบครัวประสบหลังเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อสมาธิการเรียนของนักศึกษาใหม่
นอกจากนี้ สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคาดหวังต่อมหาวิทยาลัย จากนักเรียนที่มุ่งศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจำนวน 732 คนเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 พบว่านักศึกษาคาดหวัง มีการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 76.64% ได้รับความเอาใจใส่ในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย 71.17% และต้องการชี้แนะแนวทางว่าเรียนอย่างไรจึงจะสำเร็จ 68.58% ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรให้ความสำคัญกับเสียงของนักศึกษาใหม่วัย Gen Z
เพื่อนำมาวางแผนการจัดการเรียนการสอนตามแนววิถีใหม่ ด้วยการสรรหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว การจัดการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักศึกษาใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ อาทิ การจัดให้มีระบบ อาจารย์ประจำชั้น และอาจารย์ที่ปรึกษาในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนนักศึกษาใหม่ เพื่อคอยดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา แก่นักศึกษาทั้งด้านการเรียนการสอน ช่วยเหลือประสานงาน
เมื่อนักศึกษามีปัญหาหรือกังวลในเรื่องต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการศึกษา มีการกำหนดวัน Home room อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำชั้น และอาจารย์ที่ปรึกษาได้มีโอกาสพบกับนักศึกษาใหม่ และจัดให้มีระบบพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน จะทำให้นักศึกษาใหม่วัย Gen Z รู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลายความวิตกกังวลได้ อยู่ร่วมกันเพื่อนและรุ่นพี่อย่างมีความสุข