ชีวิตต้องปันส่วน…’ออม’ เพื่อวันข้างหน้า

นิยามการใช้ชีวิต สไตล์สาวมั่น ชลพรรษา นารูลา

 

 

ชีวิตต้องปันส่วน…’ออม’ เพื่อวันข้างหน้า            ชื่อของ ชลพรรษา นารูลา คงเป็นที่คุ้นเคย เพราะเธอเป็นผู้ประกาศข่าว news line ภาคภาษาอังกฤษ ทางช่อง 11 หรือปัจจุบันเป็นสถานี nbt และรายการ set in the city ทางช่องยูบีซี กับรายการ investment clinic money channel เคเบิ้ลทีวี health boutique ช่อง thailand outlook channel รวมถึงงานพิธีกรตามงานต่างๆ

 

            ในฐานะผู้หญิงทำงานรุ่นใหม่ ฮันนี่ ซึ่งเป็นนิคเนมของเธอที่ให้นิยามในความเป็นผู้หญิงว่า คือมนุษย์ แต่ก่อนอาจจะคิดว่าผู้หญิงดูรองกว่าผู้ชาย แต่สมัยนี้ผู้หญิงมีความมั่นใจ ฉลาด เก่ง หลายๆ คนเก่งกว่าผู้ชายด้วย ผู้หญิงคืออีกคลื่นที่กำลังมาแรงในขณะนี้และต่อๆ ไป

 

            ในความมั่นใจดังกล่าวนำมาซึ่งความสามารถที่ชลพรรษาพัฒนาตัวเองและก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งพิธีกรที่ได้การยอมรับจากผู้ร่วมงานและผู้ชม วันนี้เธอก็ยังคงไม่หยุดที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

 

            ด้วยเหตุผลว่า แวดวงสื่อมวลชนมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างรวดเร็ว และไม่มีอะไรที่แน่นอน ฉะนั้น การสร้างความสมดุลให้กับชีวิต นั่นคือ การสร้าง happy family ซึ่งเธอคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับครอบครัว ที่วันนี้เวลาส่วนหนึ่งนอกจากภาระหน้าที่การงานแล้ว ก็ยกให้กับลูกสาว และการดูแลสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ คือมี happy body

 

            “ฮันนี่จะแบ่งเวลาให้ดีอย่างมีระเบียบ เพราะถ้าเราไม่มีวินัย จะทำให้ทุกอย่างเสียระบบ ถ้าถามฮันนี่ เวลางานเราทำเต็มที่ ตกเย็นต้องกลับบ้านไปอยู่กับลูก ช่วงค่ำๆ หากว่างต้องหาเวลาออกกำลังกาย ทุกวันนี้เล่นโยคะ เสาร์อาทิตย์มีเวลาว่างจะไปต่างจังหวัด เป็นการที่เราไปเติมแบตตัวเองจากที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมา 5 วัน” ชลพรรษาเรียบเรียงชีวิตกับภาระของเธอให้ฟัง

 

            เพราะนั่นคือ การจัดระบบที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน ชลพรรษามองว่า การที่คนเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ต้องทำงานที่ตัวเองรักและชอบทำแล้วมีความสุข สนุกกับมัน แล้วจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากการทำงาน นั่นคือทำให้คุณภาพชีวิต จิตใจดีขึ้น

 

            “จริงๆ แล้วสังเกตได้ ปัจจุบันคนทำอาชีพไหนมักจะต้องทำงานหนัก จนลืมให้เวลากับครอบครัวและลืมเวลาให้กับตัวเอง อยากให้พยายามคำนึงถึงปัจจัยเรื่องสุขภาพ บางทีเราอย่าไปทำอะไรให้มันมากจนเกินไปหรือเกินกำลัง เพราะทำอะไรแบบนั้นนะมาซึ่งความเครียด ตามด้วยโรคต่างๆ ผลัดกันมารุมเร้ามากมาย คนให้เวลากับการกินน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง ฮันนี่ว่าองค์ประกอบสำคัญคือเรื่องสุขภาพ หากสุขภาพดี เราก็สามารถทำงานไปได้อีกระยะยาว เมื่อเราอายุมาก ก็ยังทำงานได้อีกและยาวนานขึ้น”

 

            แม้ว่ายุคข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันขึ้นพรวดๆ ขณะที่คนเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน ยังต้องผจญกับอัตราเงินเฟ้อสูง มีโจทย์ให้คิดกันว่าจะทำอย่างไรในการบริหารจัดการชีวิตให้สมดุล ไม่กระทบกระเทือนเดือดร้อน จริงๆ แล้วเราต้องรู้จักและมีการวางแผนใช้เงินอย่างชาญฉลาด จะมีเงินมากเงินน้อยก็ต้องใช้เงินอย่างมีสติ นับตั้งแต่ซื้อข้าวของที่จำเป็น โดยไม่ลืมว่า ต้อง ออมเงินส่วนหนึ่งไว้ด้วย คือมีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ไม่เป็นหนี้ happy money นับว่าเป็นสิ่งที่เธอถนัด

 

            เพราะการออม มีหลายๆ คนที่ลืมหรือมองข้าม คิดว่าแต่ละเดือนยังไม่มีเงินใช้เพียงพอ แล้วจะเหลือออมได้อย่างไร เรื่องนี้ ชลพรรษาในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ให้คำแนะนำไว้เลยว่า ความตั้งใจจริงโดยทุกคนต้องกันเงินไว้จะ 3% 5% หรือ 10% ก็คือต้องออมเงินให้ได้ ยุคนี้มีทางเลือกมากมาย ถ้าเราไม่อยากออม ธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆมีกลุ่มกองทุนต่างๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บเงิน เพื่อช่วยในการวางแผนเมื่อเราแก่เฒ่าชราลงไป ยามเกษียณจะได้ไม่ลำบาก

 

            เพราะชีวิตคนเราต้องค้นหาวิธีการสร้างสุขให้กับตัวเอง ทั้งการทำงานและใช้ชีวิตกับครอบครัว …ชลพรรษาบอกว่า คนเราต้องทำตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราต้องสนุกด้วย หมายถึงเราชอบในสิ่งที่เราทำ แม้บางคนทำแต่งาน ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ สุดท้าย end of day จบแต่ละวันก็ไม่มีความสุข อายุก็มากขึ้น ท้ายสุดเปลี่ยนงานไม่ทันแล้วเพราะว่าแก่เกินไป

 

            “ฮันนี่ว่า ถ้าเกิดเราเรียนรู้ตัวเรา ควรจะค้นหาในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่ใช่ที่สุด ถ้าเกิดมันใช่แล้ว นั่นจะช่วยให้สามารถทำงานในสิ่งที่เรารัก และเชื่อว่าจะนำรายได้เข้ามาสู่กระเป๋าอีกมากเลย” คือคำจบท้ายที่นักจัดรายการสาวให้ข้อคิดเป็นการบ้านกับใครอีกหลายๆ คน

 

            แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน 979 ชั้น 23 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. 0 2298 0670 แฟกซ์. 0 2298 0673 www.happygoal.org

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update 28-05-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code