“ชิน ใจเย็น” จากนักดื่มสู่นักอนุรักษ์ป่า
ปี 2543 ชีวิตของ "ชิน ใจเย็น" หญิงหัวใจแกร่ง วัย 52 ปี ชาวบ้านผาตั้ง ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา กว่าจะเป็นนักอนุรักษ์ป่า มีเรื่องเล่าขานมากมายถึงตำนานนักดื่มเหล้าตัวยงชนิดหัวราน้ำ ไปร่วมงานทุกงาน เธอกับสามีต้องดื่มเหล้าเมามาย เพราะเชื่อว่าเมื่อเมาแล้วชีวิตมีความสุข ไร้ทุกข์
ชีวิตเธอและสามี นอกจากเป็นนักดื่มจนเลือดเข้าเส้นแล้ว ยังเป็นนักกู้เงิน แถมติดการพนันงอมอีกด้วย เพราะอยากรวย อยากมีเงินทองมากๆ หวังว่าครอบครัวจะได้สุขสบาย แต่ยิ่งดื่มเหล้า ยิ่งเล่นการพนัน ชีวิตก็ทำให้ครอบครัวติดหนี้สินพะรุงพะรังจนชักหน้าไม่ถึงหลัง
ในปี 2535-2536 มรสุมชีวิตถาโถมเข้าใส่ครอบครัวใจเย็นย่ำแย่หนัก เมื่อสามีเจอคดีขับรถยนต์ชนคนอื่น ทำให้ต้องสูญเงินหลายแสนบาท ทำให้เกิดความเครียดกันทั้งครอบครัว รถยนต์ก็ไม่มีใช้ เหลือแต่รถจักรยานยนต์เก่าๆ คันหนึ่งเท่านั้น
หลังมรสุมชีวิตผ่านพ้นไป ชินกับสามีก็หันหน้ามาคุยกัน ค่อยๆ หาทางออกร่วมกันทีละเรื่อง พร้อมกับนั่งทบทวนชีวิตว่าควรเริ่มต้นกันใหม่อย่างไรดี เริ่มแรก คือ ทำสัญญาใจตกลงกับสามีว่าต้อง "เลิกดื่มเหล้า" ถ้าไม่เลิกจะไม่มีเวลามาทำมาหากิน หากมัวแต่ดื่มเหล้าบ้านโน้น ย้ายบ้านนี้อยู่เป็นประจำ เมื่อไม่มีเวลาทำมาหากินแล้วชีวิตจะดีขึ้นได้
อย่างไร แม้ว่าใครๆ บอกว่าเลิกเหล้าเลิกยาก ก็ลองพิสูจน์ดู ดีเดย์ในวันที่ 8-9 มี.ค. 2551 ตกลงหยุดดื่ม สองวันนั้นมีงานในหมู่บ้านและตำบลทั้งหมด 14 งาน วันที่ 8 มี.ค. มีงานรื่นเริง งานบุญ 7 งาน แบ่งให้สามีไป ซึ่งก่อนไปตกลงกันว่าจะเลิกดื่มให้ได้ วันนั้นสามีไปงานกลับมาถึงบ้าน ไม่มีกลิ่นเหล้า ต่อมาวันที่ 9 มี.ค. เป็นหน้าที่ของเธอต้องไปงานก็ทำตามข้อตกลงเช่นเดียวกัน คือเลิกดื่มทุกอย่าง…นับจากนั้นมาชีวิตทั้งคู่ก็ไม่เคยแตะเครื่องดื่มมึนเมาอีกเลย
"ได้พิสูจน์แล้วว่า หลังการเลิกเมา หยุดดื่ม ชีวิตดีขึ้นจริงๆ เมื่อเลิกเมา หยุดดื่ม หันหน้าเข้าป่าทำงาน ครั้งนั้นไปเป็นอาสาสมัครรับจ้างปลูกป่าวันละ 80 บาท สามีก็ไปรับจ้างเหมือนกัน สองคนได้วันละไม่ถึง 200 บาท แต่เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่าย ข้าวห่อไปกินเอง กลับเข้าบ้านมาซื้อของมาทำกับข้าว เหลือเก็บครั้งละ 10-20 บาท ก็ต้องเก็บและออม" ชิน เล่าถึงชีวิตหลังเลิกเหล้า
หยุดดื่ม หยุดกู้เงิน แล้วทำงาน เมื่อได้เงินเก็บออม เก็บทุกวัน 10-30 บาท มีมากออมมาก มีน้อยออมน้อย เอาไปฝากธนาคารทุกเดือน เดือนละ 200-300 บาท ออมเรื่อยมาจนถึงปี 2554 เห็นยอดเงินในบัญชีแล้วชื่นใจ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์มาจากน้ำพักน้ำแรงทั้งหมด แม้ว่ามีเงินเก็บไม่มาก แต่สำหรับคนฐานะยากจนเงินหลักแสนบาทมันมีค่าต่อชีวิตมาก
ชิน บอกว่า การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ทำงานรับค่าจ้างรายวันไปด้วย และช่วยงานในชุมชนไปด้วย ปี 2546 มีเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขุนควร อ.ปง ครั้งแรก ลงสมัครในหมู่บ้านก็ได้รับเลือกตั้ง เพราะเพื่อนบ้านเห็นความเป็นคนตั้งใจทำงาน เมื่อเป็น ศอ.บต.แล้ว ริเริ่มก่อตั้งธนาคารหมู่บ้าน โดยรวบรวมผู้ที่สนใจมาเป็นสมาชิกเก็บออมเงิน สอนให้ทุกคนรู้ถึงความสำคัญของการออม จนปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มถึง 93 คน
อย่างไรก็ตาม ก่อนเป็นอาสาสมัครรักษาป่าต้องไปอบรมศึกษาดูงานเรื่องการบริหารจัดการป่าด้วยชุมชน จนมีความรู้พัฒนาตนเอง ครอบครัว และช่วยเหลือชุมชนได้
"การปลูกต้นไม้ก็ต้องปลูกต้นที่กินยอดได้ ปลูกอะไรกินยอดต้นนั้น เราจึงมาคิดว่าจะปลูกต้นอะไรดี ที่ไม่ต้องลงทุนและมีทุนทางสังคมอยู่แล้ว ทำให้นึกถึงต้นผักหวานป่า ซึ่งเป็นต้นไม้ในป่าที่สร้างรายได้แก่ชาว อ.ปง เป็นกอบเป็นกำทุกปี และเป็นผักหวานป่าที่นิยมของผู้บริโภค"
การเข้าป่าไปเก็บผักหวาน คนเข้าป่าเสี่ยงต่อการถูกจ้องจับผิดว่าเป็นคนเผาป่า ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเป้าและทำให้มีรายได้ มีอาหารทานได้ทั้งปี ก็เลยคิดว่าจะต้องปลูก "ผักหวานป่า" และได้เห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ลองเพาะ ซึ่งทำได้จริง จากนั้นในปี 2554 หลังการศึกษาดูงานกลับมาบ้านคิดก็วางแผนเพาะต้นผักหวานป่าทันที
ช่วงแรกๆ ก็ลองผิดลองถูกเพาะต้นผักหวานจากเม็ดที่สุกแล้วจนชำนาญ ปี 2555 เพาะ 1,000 ต้น ปลูกเอง ปี 2556 เพาะ 5,000 ต้น ทั้งปลูกเองและขายต้นกล้าละ 10-20 บาท ปี 2557 เพาะ 4,000 ต้น ขายต้นละ 5 บาท มีรายได้จากการขายต้นกล้า 2 แสนบาท และปีนี้ 2558 เพาะแล้ว 2 หมื่นต้น ขายต้นละ 10 บาท ถ้าพร้อมปลูกต้นละ 40 บาท
"รายได้จากการขายต้นกล้าผักหวานรวมกับเงินออมที่มีอยู่ สามารถถอยรถยนต์ป้ายแดงออกมาขับได้อีกครั้ง ไว้สำหรับส่งต้นกล้าผักหวานให้ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น เก็บยอดขายได้ปีละ 1-2 หมื่นบาท เก็บเม็ดผักหวานป่าขายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท"
รายได้ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้จนทุกวันนี้ เพราะอานิสงส์การอนุรักษ์และรักษาป่า ป่ามีความสำคัญ ทุกคนเมื่อรู้ว่าป่าสำคัญอย่างไร จึงช่วยกันรักษา ไม่เผาป่า มีผักหวานกินได้ทั้งปี และมีเงินเก็บไม่ลำบากอีกต่อไป
"เพราะเราหยุดเมา เลิกดื่ม มีเวลาทำมาหากินมากขึ้น ครอบครัวมีความสุข ไม่ต้องอยากรวย แค่พอมีกิน มีเก็บ ก็มีความสุข แบ่งปันความสุขให้คนในชุมชนและเพื่อนมนุษย์ด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์" ชิน กล่าวย้ำ
สังคมที่ดีในโลกนี้ไม่มีขาย แต่อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง ป่าดี ดินดำ น้ำชุ่ม เขียวชอุ่มด้วยมือเรา…ชีวิตมีแต่ความสุขนิรันดร
ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า