‘ชาวปกากะญอ’ เข้าถึงสวัสดิการรัฐ-รับรองใช้ประโยชน์ที่ดิน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ MGR Online


'ชาวปกากะญอ' เข้าถึงสวัสดิการรัฐ-รับรองใช้ประโยชน์ที่ดิน thaihealth


"ท่าผาปุ้ม" เป็นชื่อตำบลเล็กๆ ใน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกว่า 139 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา 8 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตป่าอนุรักษ์แม่ยวมฝั่งขวา มีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูกเพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด


สำหรับคนเมืองผู้อยากสัมผัสธรรมชาติ นี่อาจเป็นสถานที่ในฝัน ทว่า สำหรับชาวปกากะญอ ซึ่งตั้งรกรากมานานหลายสิบปี ที่นี่คือแผ่นดินแม่ของพวกเขา


ปัญหาคือว่า ผืนดินในตำบลท่าผาปุ้ม เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎหมายแล้วชาวบ้านใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ได้ เพราะเป็นของรัฐ


แต่ตอนนี้ปัญหาถูกคลี่คลายลงแล้ว! ประสบการณ์การแก้ปัญหาของชาวปกากะญอจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในห้องเศรษฐกิจพอเพียงและความมั่นคงของชุมชน เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติจริง วันที่ 1-3 มีนาคม 2561 ณ Hall 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี


เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ศาสตร์ของพระราชากับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน วันที่ 1-3 มีนาคม 2561 ณ Hall 8 เมืองทองธานี


ซึ่งในเรื่องนี้ ธวัชชัย ใจแสน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม (อบต.ท่าผาปุ้ม) อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตำบลท่าผาปุ้ม ซึ่งเป็นตำบลที่ได้รับสนับสนุนเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน โดยสำนักสุขภาวะชุมชน สสส. มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขา ในบริบทจริงมีคนอยู่มาแต่เดิมเป็นคนปกากะญอ โดยอยู่บนที่สูง ส่วนริมน้ำยวมเป็นคนเมือง และส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านยังชีพด้วยการทำไร่ถั่วเหลือง ไร่ข้าวโพด และปลูกข้าว


อบต.ท่าผาปุ้ม สภาองค์กรชุมชน และชุมชนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกันวางแผนจัดเก็บข้อมูลการใช้ที่ดิน เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนา นั่นจึงเป็นที่มาของ "หนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้มว่าด้วยผังชุมชน" ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "หนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน"


ถามว่าทำไมต้องทำเอกสารนี้? คำตอบคือหนึ่ง ชาวบ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ ระยะหลังจังหวัดแม่ฮ่องสอนผลักดันว่า การทำข้อมูลดังกล่าวทำให้ชาวบ้านขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ และทำให้มีสิทธิ์รับสวัสดิการบางอย่าง เช่น เวลาเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด ผลผลิตเสียหาย จะได้รับเงินชดเชย เกษตรตำบลมีข้อมูลอ้างอิง ถ้าไม่ได้ข้อมูลทำพวกนี้ไว้ ราษฎรไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อรับสวัสดิการได้


สอง หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาพื้นที่ เพราะระยะหลังมีการพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพดแทนข้าวไร่ ทำให้ดินเสื่อมโทรมเร็วกว่าการปลูกข้าวไร่เพราะทำถาวร แต่การปลูกข้าวไร่หมุนแปลงทุกปี ครบ 7 ปีจึงกลับมาแปลงเดิม ดินมีเวลาฟื้นตัว


ในรายที่ต้องการปลูกพืชไร่ ทาง อบต.ได้ชักชวนให้ทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งมีชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาทำตามบ้างแล้ว และได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะสภาพดินดีขึ้น มีน้ำใช้


"แปลงไหนไม่ปลูกข้าวไร่และจะหันมาปลูกข้าวโพด เราก็แนะนำว่าอย่าปลูกเลย เพราะมันจะทำลายดิน-น้ำ-ป่า มาทำโคกหนองนาโมเดล จัดการน้ำบนที่สูงดีกว่า คือปลูกพืชผสมผสาน จะยั่งยืนกว่า ปกติถ้าเขามีข้าวกิน ก็อยู่ได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้มีคนเปลี่ยนใจหันมาทำโคกหนองนาโมเดล 8 ราย จากเดิมที่คิดจะปลูกข้าวโพด"


"จากไร่ข้าวโพดไม่ชุ่มชื้น พอปลูกป่าบนดอย ขุดหนองดักน้ำฝนไว้ใช้ ปลูกกล้วยก็งามขึ้นมา ชาวบ้านเห็นความเปลี่ยนแปลง พืชผักที่มีน้ำขังได้บ้าง หนองไม่ได้มีน้ำตลอด แต่เก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินได้" ปลัด อบต.ท่าผาปุ้มกล่าว


การจัดทำเอกสารดังกล่าวเป็นการจัดเก็บข้อมูลเพื่อระบุว่าที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ที่ใด มีพื้นที่และพิกัดเท่าไร และชาวบ้านที่ครอบครองอยู่ใช้ทำประโยชน์อะไร


ต้องย้ำว่า "ไม่ใช่โฉนดที่ดิน" แต่ทำไว้เพื่อให้รับทราบกันภายในชุมชน


ด้วยวิธีการนี้เองทำให้ทราบว่า นอกจากการปลูกพืชไร่ ทำนาแล้ว ในพื้นที่มีการใช้ที่ดินประเภทอื่นๆ อีก


"ก่อนปี 2545 ทำบนแผนที่ด้วยมือ ต่อมา อบต.หนุนเสริม ดูว่ามีการใช้ที่ดินประเภทไหนบ้าง เช่น ป่าอนุรักษ์ไว้เป็นป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย เป็นป่าพิธีกรรม เวลาเกิดชาวปกากะญอนำสะดือทารกไปผูกไว้ที่ต้นไม้ พอตายก็นำไปไว้ที่ป่าช้าอีกแห่ง ก็เอาจีพีเอสไปจับพิกัดการใช้ที่ดินตามข้อเท็จจริง


"เราทำโซนนิ่งทั้งหมด ได้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชน ในตำบล มาต่อกัน แปลงที่ดินมีทั้งแบบส่วนตัวและแปลงใหญ่ที่คนทั้งหมู่บ้านใช้รวมกันต่อปี ทั้งหมดเป็นที่เดิมที่เขาใช้ประโยชน์มาก่อนแล้ว" และว่าคนปกากะญอซึ่งอยู่บนดอยจะปลูกข้าวไร่หมุนเวียน เพราะมีพื้นที่น้อย แต่ละชุมชนหรือครอบครัวมี 7-9 แปลง แปลงละ 7-15 ไร่ โดยปลูกหมุนเวียนปีละแปลง พอครบ 7 ปี ก็หมุนกลับมาปลูกที่เดิม


การหมุนเวียนไปปลูกพืชที่แปลงอื่นๆ นี่เอง ทำให้พวกเขาถูกมองว่า "ทำไร่เลื่อนลอย" แต่โดยภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คือการปล่อยให้ดินได้พักฟื้นฟูสภาพ


ในการจัดเก็บข้อมูลโดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และเจ้าของแปลงที่ดิน โดยมีเจ้าหน้าที่ อบต.และสภาองค์กรชุมชนเป็นทีมหนุนเสริม มีการสอบทานข้อมูลและคืนข้อมูลโดยกระบวนการประชาคมรับรองข้อมูลในทุกหมู่บ้าน


การออกหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะทำให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้น? คำตอบคือ "ไม่" เพราะคนในชุมชนจะควบคุมกันเอง หากใครฝ่าฝืน จะแจ้งคณะกรรมตำบล ซึ่งมีนายอำเภอและป่าไม้เป็นที่ปรึกษา หากยังไม่ยุติอีก ก็ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย


กล่าวโดยสรุป การทำหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์คือ นำไปใช้อ้างอิงขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐได้ ในขณะที่ภาครัฐได้เห็นภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โดยรวม หาแนวทางพัฒนาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ทั้งยังป้องปรามไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกเพิ่ม เนื่องจากในการชี้เขต ผู้นำชุมชนและคนเฒ่าคนแก่ร่วมเป็นพยานด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code