ชายไทย 70% ตั้งใจ ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ นี้

/data/content/24928/cms/e_abfiknsty347.jpg


          สธ.จัดรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ 2557 พร้อมเผยผลโพล คนไทยรับรู้กฎหมายห้ามขายสุราวันเข้าพรรษาถึงร้อยละ 91 และชายไทยร้อยละ 70 ตั้งใจลดดื่มสุราช่วงเข้าพรรษานี้


          เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 57 นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2557 พร้อมด้วยพระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ ผู้แทนด้านศาสนา นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ


          นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการศึกษาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุจราจรของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ปี 2556 ที่ผ่านมา ร้อยละ 70.9 ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และร้อยละ 60.1 มีระดับแอลกอฮอล์เกินระดับที่กฎหมายกำหนด (เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ในจำนวนนี้?ส่วนมากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขณะเสียชีวิตสูงถึง 189 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือสูงเกือบสี่เท่าของที่กฎหมายกำหนด และที่น่าเป็นห่วงคือ มีเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่เสียชีวิตร้อยละ 56 ดื่มสุราก่อนเสียชีวิตและมีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดเฉลี่ยถึง 139 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


          ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ด้านการควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพ 2. ด้านการปรับเปลี่ยนค่านิยมและแรงสนับสนุนในการดื่ม 3. ด้านการลดอันตรายจากการบริโภค 4. ด้านการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ และ 5. ด้านการพัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนที่เข้มแข็ง สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการป้องกันควบคุมผลกระทบในทุกมิติที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อคุ้มครองเยาวชน และปกป้องประชาชนโดยทั่วไป


          จากการสำรวจของเอแบคโพลล์ โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 11 – 60 ปี ทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,045 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยรับรู้ว่ามีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ถึงร้อยละ 91.40 และยังมีข้อเสนอแนะให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมในทุกวันพระ กับในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ด้วย


          นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ DDC Poll (ดีดีซีโพล) ครั้งที่ 7 "เข้าพรรษา ลดเสี่ยง (อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา)" โดยการสำรวจทั้งหมด 3,245 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24 จังหวัด พบว่า ในเพศชายร้อยละ 72.44 มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าเพศหญิง และเพศชายร้อยละ 70.52 คิดว่าตั้งใจจะลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนทำความดี ด้วยการงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา โดยประชาชนทุกคนสามารถร่วมลงนามปฏิญาณตนเข้าพรรษา งดสุรา ยาสูบ ทำความดีถวายในหลวง ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่หน่วยงานราชการ ศาสนสถาน สถานศึกษา และโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทำการรวบรวมรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป


          ด้านพระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ ผู้แทนด้านศาสนา กล่าวว่า ในโอกาสที่วันเข้าพรรษาเป็นวันที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ประกาศเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สุราเป็นอบายมุข เป็นปากทางแห่งความเสื่อม และทรงแสดงโทษของการดื่มสุราไว้ 6 ประการ คือ 1. ทำให้เสียทรัพย์ 2. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท 3. ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง 4. ทำให้เสียชื่อเสียง 5. ทำให้ขาดความละอาย และ 6. ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย ซึ่งการงดดื่มสุรา เป็นการสร้างความรัก สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทรัพย์ ไมตรี สุขภาพเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสติปัญญา นับเป็นบุญกุศลให้กับตนเองและสังคม


          นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2554 พบว่าเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 31.5 ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ปี 2544 ซึ่งเยาวชนมีอัตราการดื่ม?อยู่ที่ร้อยละ 32.7 อายุเฉลี่ยของการเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 20.4 ปี จำแนกเป็นเพศชายเริ่มดื่มที่อายุ 19.4 ปี และเพศหญิงเริ่มที่ 24.5 ปี มีข้อสังเกตว่าประชาชนกลุ่มอายุน้อยมีแนวโน้มเริ่มดื่มเร็วกว่าประชาชนในกลุ่มอายุมากกว่า โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื่มของเยาวชน ประกอบด้วยปัจจัยหลัก เช่น ค่านิยมของสังคมในการเปิดรับสื่อโฆษณา กระตุ้นให้เยาวชนอยากรู้อยากลอง สถานการณ์ในครอบครัว เพื่อน และชุมชนที่เอื้อต่อการดื่มของเยาวชน และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เป็นต้น


          นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องอาศัยการบูรณาการแผนงานเพื่อให้สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน และมีการส่งเสริมจรรยาบรรณขององค์กรด้านธุรกิจ ร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ถึงมาตรการการกำหนด วันเวลา สถานที่ในการห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ รวมถึงกิจกรรมการโฆษณาส่งเสริมการตลาดที่ผิดกฎหมายด้วย


          โดยกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2557 ครั้งนี้ จัดขึ้นในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 11.00 – 17.00 น. ณ บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โซนอีเดน ชั้น 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและบุคคลที่อุทิศตนเพื่อดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บูธนิทรรศการและบูธของหน่วยงานต่างๆ การแสดงบนเวที และการเสวนาเรื่อง "เยาวชนไทยรุ่นใหม่ กับภัยแอลกอฮอล์"


          หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 0-2590-3392 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code