ชวนเล่นแบบไม่เล่นๆ ผ่านนวัตกรรมเด็กปฐมวัย

เรื่องโดย : ณัฏฐา สงวนวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : ชวนเล่นแบบไม่เล่นๆ ผ่านนวัตกรรมเด็กปฐมวัย

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    Ferbel  (1916) นักจิตวิทยาและนักการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นไว้ว่า “ การเล่นเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของเด็ก เป็นกิจกรรมที่เด็กทำเป็นส่วนใหญ่ การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา”

                    เด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่พร้อมในการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่ายิ่ง การเล่นสามารถช่วยสร้างเสริมกระบวนการพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ส่งผลทำให้เด็กมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี  สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม เติบโตเป็นเด็กเก่งและมีจิตใจงดงาม เกิดความสุขจากภายในที่แท้จริงได้

                    ดังนั้น เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมีองค์กรต่างๆ และภาคีเครือข่ายฯร่วมแลกเปลี่ยนความคิด โชว์นวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อการเล่นกับเด็กปฐมวัยได้ ณ รร.อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ จึงมีเรื่องชวนให้ติดตามมิใช่น้อย

                    โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้ และ การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , องค์การยูนิเซฟ และเครือข่ายการศึกษาปฐมวัยทั่วประเทศ จัดขึ้นพร้อมคัดเลือกนวัตกรรมมาแสดงถึง 10 ชิ้นงาน เพื่อเป็นต้นแบบนำไปขยายผลให้แพร่หลายมากขึ้น

                    ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำถึงคุณค่าของ “การเล่น” ที่เด็กจะเรียนรู้ได้ดี มีความสุขรู้สึกปลอดภัย หากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์อยู่ใกล้ พร้อมชื่นชมกับBoard Game โค้ดดิ้ง และสื่อการสอนวัตนกรรรมใหม่ ๆ  จาก สสส. องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ตามด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เข้ามามีส่วนสนับสนุน จนสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพให้เห็นแบบอย่างอีกด้วย

                    ขณะที่ ดร.สุเทพ แก่งสันเที๊ยะ เลขาธิการสำนักงานสภาการศึกษา (สกส.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า สภาการศึกษาได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 โดยยกระดับการขับเคลื่อนและพัฒนาเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้และเล่นอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับ สสส. สร้างสื่อโซเชียลเชื่อมต่อภาครัฐ จัดทำ Website “ปฐมวัยไทยแลนด์”  สร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย ใกล้กันมากขึ้น

                    “… ดังนั้น การเล่นในปฐมวัย จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็ก ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติอย่างเต็มคุณภาพ และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กปฐมวัยกว่าร้อยละ 30 พัฒนาการล่าช้า มีปัญหาทั้งด้านภาษา การเรียนรู้ โภชนาการ และมีจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบฟื้นฟู ติดตามช่วยเหลือ…”

                    กล่าวเสริม จาก ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. ทำให้เห็นความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรในกลุ่มเด็กปฐมวัย ควรเป็นวัยที่สังคมทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันเสริมสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีด้วยความเข้าใจถึงความต้องการของเขา ผ่านการเล่นอย่างสร้างสรรค์ ตั้งแต่ต้นทางชีวิต  ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 เราจะเห็นการซ้ำเติมที่นำไปสู่การเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย

                    “สสส. จึงร่วมเป็นคณะทำงานสนับสนุน ในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อ 4 เป้าหมายหลัก 1.ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนอย่างน้อย 2 ประเด็น/ปี  2.สนับสนุนด้านวิชาการ  3.มีฐานข้อมูลผลงานวิชาการสำคัญและนวัตกรรมส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยแก่หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และ4.ให้สังคมเกิดความตระหนัก รับรู้ มีส่วนร่วมส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย

                    การประชุมครั้งนี้ นอกจากเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยแล้ว ยังมีนวัตกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาจัดแสดง เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวางมากขึ้น” ดร.ประกาศิต กล่าว

                    โดยภายในงานมีมุมประสบกาณ์ให้ความรู้ และแสดงผลงานมากมาย ล้วนเป็นแหล่งความรู้สำหรับครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้สนใจด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย อาทิ นวัตกรรมเว็บไซต์ ปฐมวัยไทยแลนด์ช่วยได้  (http://ecd.onec.go.th ), กิจกรรมระบายสี ใส่หมวกกระดาษหุ่นยนต์คิดและคำนวณเลข จากบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย, ของเล่นผ้าทำมือ เรียนรู้ทักษะตัวเลข จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลนครราชสีมา เป็นต้น

                    นอกจากมีเวทีเสวนาพร้อมกิจกรรมหลายหัวข้อ อย่าง ชวนเล่านิทาน สรรสร้างจินตนาการสำหรับเด็ก แบบศิลปะด้านใน, ชวนเล่นแบบไม่เล่น ๆ บอกอะไรบ้างเกี่ยวกับการดูแลเด็กอย่างเอาใจใส่ และนวัตกรรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ให้ผู้ร่วมงานเข้าถึงและรู้วิธีสอนเด็กอีกด้วย

                    “บ่อยครั้งที่มีเพื่อนจะพบเจอกับปัญหาเดียวกั เมื่อเด็กจะรื้อหรือเล่นอะไรก็ตาม มักจะถูก ปู่ ย่า ตา ยาย หรือแม้ พ่อ- แม่ จะคอยถูกห้ามด้วยความเป็นห่วงตลอดเวลา  อาจด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเป็นกิจกรรมมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กเสมอ”  ตัวแทนภาคีเครือข่าย จากศูนย์เด็กเล็กเทศบาลนครราชสีมา กล่าวขณะสาธิตของเล่นผ้าทำมือ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มมีความสุข

                    สสส.ยังคงเดินหน้า ขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับเพื่อนภาคีเครือข่ายต่อไป เพื่อร่วมกันเสริมสร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีให้กับเด็กทุกคนได้สร้างฐานทุนสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต

Shares:
QR Code :
QR Code