ชวนเด็กปลูกผักทางรอดโรงเรียนไม่ถูกยุบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจ
ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ปัจจัยการดำรงชีพจึงถูกมุ่งเน้นไปที่รายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวเป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง ผู้ปกครองและเด็ก ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมาก ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องในครอบครัว เวลาเอาใจใส่ลูกๆ จึงลดลง
โดยส่วนหนึ่งได้ผลักภาระไปให้โรงเรียน เช่น เลือกโรงเรียนที่มีรถรับ-ส่งนักเรียนฟรี เรียนฟรี หรือมีสิ่งสาธารณูปโภครองรับมากกว่า จะได้ไม่เสียเวลารับส่งบุตรหลานด้วยตนเอง ขณะที่อีกส่วนก็คุมกำเนิด ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก ส่งผลให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายๆ แห่งถูกยุบ เพราะจำนวนนักเรียนมีน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
โรงเรียนบ้านนาต๋ม ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ถือเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ประสบกับวิกฤติดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการศึกษา 2559 โรงเรีนแห่งนี้เหลือเด็กนักเรียนเพียง 35 คน จากเดิมที่เคยมีมากสุดถึงกว่า 300 คน ในปี 2527 ทำให้โรงเรียนอยู่ในสถานะถูกพิจารณาให้ยุบ
สถานการณ์ดังกล่าว ทางผู้บริหารโรงเรียนนำโดย นางนรกมล เครือวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาต๋ม ต้องเร่งหาทางออก หากไม่ดำเนินการใดๆ โรงเรียนอาจถูกยุบได้ คณะครู ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง จึงได้หารือร่วมกัน จนในที่สุดก็มีมติร่วมกันว่าต้องดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองคนอื่นๆ ให้นำบุตรหลานกลับมาเรียนที่โรงเรียนบ้านนาต๋มอีกครั้ง
แนวทางหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน คือการดำเนินโครงการที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวนักเรียนเอง
เมื่อผลสรุปได้ดังนี้ทางคณะครูจึงเลือกทำกิจกรรมที่จะปรับทัศนะของเด็กๆ ในด้านโภชนาการ จึงขอรับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการเด็กนาต๋ม นิยมกินผักผลไม้ ใส่ใจสุขภาพ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาต๋ม เล่าว่า จากการทำแบบสำรวจในช่วงก่อนเริ่มโครงการ พบว่าเด็กไม่ชอบกินผักผลไม้ เมื่อเจอผักในเมนูอาหารก็จะเขี่ยทิ้ง และการติดตามพฤติกรรมบริโภคอาหารกลางวันจากปริมาณเศษอาหารที่เหลือ วันไหนที่แม่ครัวทำเมนูเกี่ยวกับผัก จะมีเศษอาหารเหลือมากกว่าเมนูที่ทำจากเนื้อ เช่นเดียวกับวันไหนที่มีผลไม้ มักจะถูกเด็กทิ้งมากกว่าขนม จึงได้จัดอบรมให้ความรู้ เป็นการพัฒนาศักยภาพของแม่ครัว ขณะเดียวกันคณะกรรมการดำเนินงานที่ประกอบด้วยครู แม่ครัว ตัวแทนผู้ปกครอง และตัวแทนนักเรียน ก็ประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อจัดทำรายการอาหารกลางวันร่วมกัน โดยใช้โปรแกรม Thai School Lunch ช่วยคำนวณให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และมีคุณค่าเหมาะสมกับวัยของเด็ก สำหรับตัวเด็กเองได้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพของแกนนำนักเรียน ให้รู้ว่าผักผลไม้มีประโยชน์อย่างไร วิธีการเลือกซื้อที่ถูกต้อง ก่อนให้แกนนำขยายความรู้ไปสู่นักเรียนทั้งโรงเรียน
นางสายวสันต์ เสนาธรรม ครูปฏิบัติการ คศ 1 ที่รับผิดชอบดูแลด้านโภชนาการเด็กอธิบายว่า เมนูต่างๆ จะถูกนำมาพูดคุยร่วมกันระหว่างครู และนักเรียนโดยอาศัยหลัก “ปลูกทุกสิ่งที่กิน กินทุกสิ่งที่ปลูก” กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการสร้างเสริมลักษณะนิสัยให้นักเรียนคุ้นชินกับผัก ซึ่งนักเรียนทุกคนจะมีส่วนร่วมส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ ผ่านรูปแบบการทำโครงงาน และบูรณาการกับทุกวิชา อาทิ การเลี้ยงปลา เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก ทำน้ำดื่มสมุนไพร เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยช่วยเสริมในการทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนหันกลับมากินผักมากขึ้น ก็คือ ผู้ปกครอง โดยใช้การกระตุ้นการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมเยี่ยมบ้านเด็ก ซึ่งก็จะแจกพันธุ์ผักบุ้ง ทำให้เด็กกับผู้ปกครองมีกิจกรรมทำร่วมกัน เมื่อเด็กปลูกผักในโรงเรียนจึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้ปกครองมาช่วยดูแลด้วย
เมื่อทำทุกอย่างควบคู่กันไป เด็กได้นำผักที่ปลูกเองมาทำอาหาร แม่ครัวปรับวิธีการหั่นผักผลไม้ให้ชิ้นเล็กลง ครูและผู้ปกครอง คอยดูแลการรับประทานอาหาร ให้มีผักผลไม้ ทั้งที่โรงเรียนและบ้าน ปริมาณการเขี่ยผักผลไม้ทิ้งก็น้อยลง และสังเกตพบว่าผักที่เด็กชอบ คือ ผักบุ้ง ผักกาด ถั่วงอก
นายพีระพล ธรรมศร ครูช่วยสอน และกรรมการโครงการ กล่าวเสริมว่า การทำให้เด็กกินผัก นอกจากครู และผู้ปกครอง ต้องคอยกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว การให้พี่คอยติดตามดูแลน้อง หรือเพื่อนติดตามเพื่อน ว่าบริโภคผักผลไม้หรือไม่ อย่างไร ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างมาก เด็กจะคอยบอกว่าใครกินผัก ใครไม่กินผัก คนที่ไม่กินผักจะรู้สึกอาย และค่อยๆ ปรับตัว จนสามารถกินผักได้โดยปริยาย
นอกจากนี้การได้ปลูกผักเอง ได้ดูแลรดน้ำพรวนดิน เฝ้ามองการเจริญเติบโตของผัก ก็ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของผักมากขึ้น และบางโครงงานแม้จะไม่ใช่การปลูกผักโดยตรง หากในการนำมาประกอบอาหาร ก็ต้องใช้ผักเป็นส่วนประกอบ อาหารเกือบทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กับผักทั้งสิ้น
ด้านการเรียนการสอนนั้น ก็ได้มีการบูรณาการหลักสูตรให้เข้ากับกิจกรรมในโรงเรียน โดยเฉพาะวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ คณิตศาสตร์ สังคม แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำเด็กๆ มาเรียนรู้วิชาเหล่านี้ร่วมกันผ่านแปลงผักได้
ด.ช.ปณิธาณ แก้วศรี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เผยถึงความรู้สึกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลแปลงผักว่า รู้สึกสนุกที่ได้ร่วมทำกิจกรรมนี้ โดยเฉพาะผักคะน้าเป็นผักที่ตนเองชอบรับประทานอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้ตั้งใจปลูกมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น ผู้ปกครองที่บ้านยังมาช่วยดูแล และแบ่งซื้อส่วนที่เหลือจากโรงเรียนกลับไปประกอบอาหารที่บ้านด้วย
ความเปลี่ยนแปลงนอกจากจะได้เห็นเด็กนักเรียนกินผักมากขึ้นแล้ว ตัวชุมชนกับโรงเรียนก็ยังเกิดความใกล้ชิดขึ้นเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ คนเริ่มหันกลับมาหาโรงเรียนใกล้บ้านแทนที่จะพึ่งพารถโรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากโรงเรียนในเมือง
“ผลได้ที่ตามมา คือในปีการศึกษาใหม่นี้ มีเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 48 คน เนื่องจากผู้ปกครองเห็นว่าเด็กในโรงเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน และครูก็เอาใจใส่อย่างจริงจัง” ผอ.โรงเรียนบ้านนาต๋ม อธิบาย
จำนวนเด็กนักเรียนดังกล่าว เป็นสัดส่วนเข้าเกณฑ์พื้นฐานของเขตการศึกษาจังหวัด ส่งผลให้โรงเรียนนาต๋ม ผ่านการพิจารณา ทำให้โรงเรียนไม่ถูกยุบในที่สุด