ชวนมนุษย์ออฟฟิศ กินผักผลไม้มากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ยุคนี้หลายคนทราบกันดีว่าการกินผัก-ผลไม้ถือว่ามีประโยชน์และเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย แต่ด้วยสภาพความเร่งรีบและแข่งขันกับเวลาในการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองหลวง เช่น ชาวออฟฟิศต่างๆ จึงทำให้พลาดโอกาสรับสารอาหารเหล่านี้ไป
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "กินผัก สร้างสุข กับบุคคลต้นแบบ" ในโครงการกินผัก-ผลไม้ดี 400 กรัม เพื่อชวนทุกคนก่อนจะพาคนในครอบครัวหันมาปรับปลี่ยนพฤติกรรมและบริโภคผัก-ผลไม้กันมากขึ้น กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงาน สสส. ซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ภายในงาน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้มอบรางวัลให้กับบุคคลต้นแบบในองค์กรต้นแบบ 6 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท พรีเมียร์, บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนหันมาใส่ใจอาหารการกินและบริโภคผักให้ได้ตามปริมาณที่เหมาะสม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส.สนับสนุนการดำเนินการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการบริโภคผัก-ผลไม้ที่มีความปลอดภัยอย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าบริโภคผัก-ผลไม้อย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.9 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2564 โดยเฉพาะสนับสนุนสถานประกอบการให้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผัก-ผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผัก การมีตลาดนัดหมุนเวียน หรือจัดเมนูอาหารสุขภาพสำหรับพนักงาน
ส่วนเหตุผลที่ต้องบริโภคผักวันละ 400 กรัมนั้น มีข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า หากกินผักได้วันละ 400 กรัมจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ 30 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 6 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหาร หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 1-6 เปอร์เซ็นต์ ลดเบาหวาน ความดัน ลดน้ำหนัก ประโยชน์มหาศาลที่ตามมาจากการกินผักนั้น ทำให้ทุกคนต้องเริ่มทบทวนว่าตอนนี้เรากินผักเพียงพอหรือไม่
น.ส.จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผัก-ผลไม้ 400 กรัม กล่าวว่า ได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 6 แห่งเข้าร่วมโครงการ โดยมีพนักงานสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 777 คน โดยมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความต้องการบริโภคผัก-ผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม แก่พนักงานในแต่ละสำนักงาน โดยให้ทดลองชั่งผัก เพื่อให้รู้จักปริมาณผักที่ควรบริโภคต่อวัน ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของผักแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการล้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้าง มีการจัดพื้นที่จำหน่ายผัก-ผลไม้และอาหาร รวมถึงการตรวจวัดระดับสารเคมีจากผัก-ผลไม้ตกค้างในเลือด โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
นอกจากนี้ มีกิจกรรม 21 วัน มหัศจรรย์ผัก-ผลไม้ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครจากสำนักงานต้นแบบทดลองปฏิบัติภารกิจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผัก-ผลไม้ของตนเองได้ตลอด 21 วัน โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลปริมาณผัก-ผลไม้ในอาหารแต่ละจาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมป้อนข้อมูลบันทึกไว้ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคผัก-ผลไม้ของตนเอง รวมถึงจัดทำไลน์กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แรงบันดาลใจในการกินผัก-ผลไม้
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอบรมบุคคลต้นแบบ 33 คน เยี่ยมชมการปลูกผักแบบไร้สารเคมี และการย้ายกล้า ผสมดิน ทดลองปลูกผัก เรียนรู้การปรุงอาหารจากผักที่มีตามฤดูกาล การถนอมและแปรรูปผัก-ผลไม้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริโภคผัก-ผลไม้ของตนเอง รวมถึงระดมความคิดในการขยายองค์ความรู้เรื่องการบริโภคผัก-ผลไม้สู่สังคมวงกว้าง อบรมแม่ครัวต้นแบบ ซึ่งเป็นผู้ค้าในโรงอาหารของบริษัทให้เป็นผู้มีความรู้ในการปรุงอาหารเพื่อสุขภาวะด้วย
"สำหรับการจัดกิจกรรมของบริษัทมี 2 ส่วน คือสำนักงานกรุงเทพฯ และพนักงานฝ่ายผลิตที่โรงงานศรีราชา จัดอบรมให้กับผู้ค้าในโรงอาหาร ซึ่งแม่ค้าที่ไปอบรมก็กลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมเมนูผักมากขึ้น มีโครงการแปลงผักอินทรีย์ ที่มีการสาธิตอบรมการปลูกผักอินทรีย์ในบริเวณพื้นที่ว่างข้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงได้ต่อยอดในส่วนการจัดตลาดผัก-ผลไม้อินทรีย์ขึ้น โดยเชิญชวนชาวสวนที่ปลูกผักแถวคลองจินดามาจำหน่ายเดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง ที่ไลอ้อน กรุงเทพฯ ด้วย"
หัวหน้าโครงการกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนเมืองหันมาใส่ใจเรื่องการกินผักมากขึ้น และสะดวกสบายขึ้น เพราะไม่ได้พยายามอยู่คนเดียว แต่มีองค์กรที่ตนเองอยู่คอยสนับสนุน เมื่อดูแลตัวเองได้แล้วก็จะกระจายไปสู่การดูแลคนในครอบครัว ดูแลเพื่อนให้หันมากินผักเพื่อสุขภาพที่ดีกันอย่างทั่วถึง
“สิ่งที่เราควรคำนึงถึงนอกจากการกินผักนั้นคือ ผักที่เรากินต้องสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย ไม่ว่าจะซื้อผักมาจากที่ใด สิ่งสำคัญคือการล้างผักให้สะอาดที่สุด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสะสมของยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมา ก่อนบริโภคไม่ว่าจะแช่ด้วยน้ำธรรมดา น้ำเกลือ หรือในสารละลายต่างๆ แล้วล้างผัก-ผลไม้ที่แช่แล้วด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง เมื่อกินผักที่สะอาดครบถ้วนตามปริมาณที่เหมาะสมนั้น ก็มั่นใจได้เลยว่าเราจะมีสุขภาพที่ดีแน่นอน” หัวหน้าโครงการกล่าว
ทางด้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมอบรม โดย น.ส.วิภาจรี เจริญวงษ์ พนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ชีวิตวนเวียนอยู่กับอาหารถุงและอาหารในร้านตามสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่าอาหารของเราสะอาดหรือมีสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ ก็หันมาเปลี่ยนวิถีการกินด้วยการรับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมจนเป็นผลสำเร็จ พร้อมปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต หากต้องสั่งอาหารจากแม่ค้าก็จะขอผักเพิ่ม จนกระทั่งสุดท้ายหันมาเปลี่ยนมาทำอาหารเองมากขึ้น และสามารถเลือกบริโภคแต่วัตถุดิบดีๆ มีประโยชน์ และสามารถปรุงรสไม่เอาหวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ และเป็นบ่อเกิดของดรคโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
น.ส.อรุนันท์ แถมมนตรี ข้าราชการจากศาลยุติธรรม กล่าวว่า เดิมมีปัญหาสุขภาพจากอาการภูมิแพ้ แต่เมื่อหันมาทานผัก-ผลไม้กลับทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น
เห็นข้อดีของการกินผัก-ผลไม้กันแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวจะมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคนำของดีเข้าสู่ร่างกายเพื่อสุขภาวะดีไปด้วยกัน