ชวนตื่นรู้ เช็คตับ-เลิกเหล้า
เรื่องโดย ณัฏฐา สงวนวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากงาน พลังหมออนามัย ชวนคนไทยตื่นรู้ เช็คตับ เลิกเหล้า จัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเอนไซม์ตับ วันที่ 6 กันยายน 2566
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แอลกอฮอล์ เป็นเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายประการ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกาย และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และยังทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
“ยืนยันจากข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า จ.น่าน มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 43% ของประชากร”
จากข้อมูลดังกล่าว จึงไม่แปลกที่หมุดหมายสำคัญในการลงพื้นที่ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ที่จังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมลุยวัดค่าเอนไซม์ตรวจสุขภาพตับ ที่ รพ.สต.บ้านสะเนียน ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน หน่วยสุขภาพใกล้บ้าน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ
โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. เป็นผู้นำ ด้วยเหตุผลที่ว่า… “รพ.สต.บ้านสะเนียน เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเก็บวัดผลตรวจเลือด เพื่อหาค่าเอนไซม์ตับจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และผู้ดื่มติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน โดยมีการติดตามหลังการงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน พร้อมให้คำปรึกษาปรับพฤติกรรม พบว่า ผู้ดื่มใน ต.สะเนียน สามารถลดหรือเลิกดื่มได้ถึง 78.8%”
จึงได้เห็นบทบาทและข้อมูลของเครือข่ายหมออนามัยฐานะผู้ทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะจุดแข็ง คือ ความใกล้ชิดเข้าถึงประชาชนในทุกบริบท โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาไม่ได้ทำการรณรงค์เพียงแค่การส่งเสริมการลด ละ ชวนให้คนเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่านั้น
หากยังมีเครื่องมือสำคัญ คือ การตรวจเอนไซม์ตับ เริ่มจากการสอบถามประวัติผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนคัดกรอง จากนั้นประเมินอาการ และเจาะเลือดตรวจค่าเอนไซม์ตับ ถ้าดื่มสุรามากเกินไปทำให้ตับอักเสบ เอนไซม์จะรั่วออกมาทำให้ตรวจพบค่าเอนไซม์ตับสูงในกระแสเลือด และถ้าดื่มเป็นประจำดื่มหนักหรือติดสุรารุนแรงจะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ
นอกจากนั้นยังอาศัยการทำงานอย่างเข้มแข็งของ อสม. ที่เข้าไปเคาะตามประตูบ้านชุมชนอย่างใกล้ชิดคุ้นเคยในการถามไถ่ ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ติดตามประเมินอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ซึ่งทุกอย่างได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ เครือข่ายหมออนามัย ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมใจเป็นหนึ่งขับเคลื่อนการจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการ “วัดค่าเอนไซม์ตับ” ในพื้นที่นำร่อง 80 พื้นที่เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ใน 32 จังหวัด ร่วมกับ รพ.สต. ให้รู้ด้านสุขภาพ เสริมพลัง ให้คำปรึกษาทุกคำถาม
ได้มีโอกาสพบกับหลายคนที่เข้าร่วมโครงการและสามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้น อย่างเช่น นายชนะศึก ตรามัย อายุ 48 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.บ้านสะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ผู้นำชุมชน และ นายชุมพร อินแปลง เจ้าหน้าที่ อบต.สะเนียน อายุใกล้เคียงกัน สามารถเลิกเหล้าสำเร็จ
เล่าตรงกันว่า ดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่อายุ 18 ดื่มบ่อยดื่มทุกวันด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองน่าน ที่สังสรรค์เป็นปกติ เพราะหลงติดค่านิยมว่าลูกผู้ชายต้องกล้าดื่ม หลังเลิกงานต้องมีตั้งวง คนแรกเมาแล้ว เกิดอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ เข้ารพ.สลบไป 3 วัน บวกกับปัญหาเรื่องโรคประจำตัวไขมันในเลือดสูง ต้องกินยาลดทุกเย็น นึกถึงครอบครัว และอยากเลิกเหล้าให้ได้ แต่อีกคนมีแต่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ร่วมกับการมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อยากดื่มสุราตลอดและ ไม่เคยเข้าตรวจสุขภาพ
หลังได้เข้าร่วมโครงการกับ รพ.สต.สะเนียน และสสส.-สคล.-หมออนามัย-อสม.แนะนำให้ความรู้เรื่องสุขภาพ พาไปตรวจเลือด เช็คค่าเอนไซม์ตับค่าสูงต้องรักษา อธิบายเหตุผลให้ลด ละเลิกเหล้า แนะนำถึงการปฏิบัติตัว ส่วนด้านจิตใจต้องควบคุมตัวเอง หันมาออกกำลังกายแทน ได้กำลังใจจากครอบครัวด้วย ผ่านไป 2 เดือน ตรวจค่าเอนไซม์พบว่าดีขึ้น ปัจจุบันเลิกได้ 5 ปีแล้ว สุขภาพทุกอย่างดีขึ้น
“นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เพื่อครอบครัวเลย ขอขอบคุณที่มีโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนอีกมากมายได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองต่อไป” นายชนะศึก กล่าว
นายนันทมิตร นันทะเสน ผู้อำนวยการรพ.สต.บ้านสะเนียน กล่าวด้วยความประทับใจถึงทำงานร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วนโดยเฉพาะ เครือข่ายหมออนามัยวิชาการ( หมออนามัยกับเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ อันเดียวกันหรือเปล่า) และสสส. ที่ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ต้นแบบสำคัญ ที่นำไปสู่ความสำเร็จได้
สุดท้ายก่อนการลาจาก พบกับ ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา ม.ทักษิณ กล่าวด้วยความประทับใจถึงสมรรถนะหมออนามัยรุ่นใหม่ และ รพ.สต. มีวิธีจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ทำให้เห็นศักยภาพด้านวิชาการและการใช้ความรู้เชิงวิชาการขับเคลื่อนงานเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
“จากบทเรียนที่ผ่านมา จะใช้แค่การรณรงค์ให้ความรู้อย่างเดียวอาจไม่ได้มีประสิทธิผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องใช้การสื่อสารให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยการตรวจค่าเอนไซม์ตับ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ข้อคิดจาก ดร.บุญเรือง
สสส. ขอเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนการลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้การสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ