ชวนครอบครัวเลิกเหล้า อีกหนึ่งความดีวันเข้าพรรษา
ลด ละ เลิก 3เดือน
การงดเหล้าเข้าพรรษา ถือเป็นอีกหนึ่งการทำความดีเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมและเวียนเทียนแล้ว การตั้งจิตปฏิญาณเพื่อลด ละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่นเป็นวันอาสาฬหบูชา ก่อนที่จะเข้าสู่วันเข้าพรรษาในวันที่ 27 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2553 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นวันออกพรรษาเท่านั้น หากยังตรงกับวันปิยมหาราช ซึ่งเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของคนไทยอีกด้วย
สำหรับแนวทางการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ในปีนี้ ชูแนวคิด “เข้าพรรษา ชวนครอบครัวเลิกเหล้า” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วยตัวแทนเยาวชนโครงการเยาวชนรู้เท่าทันน้ำเมา เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการ โดยนายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามปฏิญาณตน พร้อมเขียนไปรษณียบัตรยักษ์ชวนครอบครัวชาวไทยงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ตกเป็นทาสน้ำเมา
นายธีระกล่าวว่า โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นไปที่ตัวนักดื่มเป็นหลัก แต่ครั้งนี้เน้นคนในครอบครัวให้ชักชวนพ่อหรือแม่งดเหล้าเข้าพรรษา จากสถิติตัวเลขที่สำรวจพบว่า ร้อยละ 30-40 ของผู้เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษาได้สำเร็จนั้น เกิดจากคนรอบข้างให้กำลังใจ โดยเฉพาะลูกเป็นคนที่ทำให้พ่อเลิกดื่มเหล้าได้อย่างเห็นผลชัดเจน ขณะที่ภรรยามักจะเป็นผู้ที่ทำให้สามีเลิกเหล้าได้ไม่ค่อยสำเร็จ เนื่องจากภรรยาใช้คำพูดเสียดสีหรือประชดประชันทำให้สามีไม่พอใจและไม่ยอมลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ภรรยาควรใช้คำพูดที่เป็นกำลังใจหรือเตือนสติมากกว่าการพูดจารุนแรงดูถูกหรือเหยียดหยาม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะหรือขัดแย้งกันในที่สุด
“โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 ในแต่ละปีมีผู้งดเหล้าตลอด 3 เดือนราว 30% หรือประมาณ 5 ล้านคน จากสัดส่วนผู้ดื่มทั่วประเทศประมาณ 17-18 ล้านคน ส่วนแนวทางรณรงค์ในปีนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่คนในครอบครัวเท่านั้น หากยังรวมถึงคนในชุมชน โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลในสถานีอนามัยทั่วประเทศมีความรู้ในการเชิญชวนชาวบ้านร่วมโครงการ”
ขณะที่มหาเถรสมาคม (มส.) ยังได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ สคล. เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญต่างๆ โดยจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติและพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอย่างมาก พบว่าประชาชนร้อยละ 50 มีจิตสำนึกในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประชาชนงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะเดียวกันยังพบว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ทั้งยังมีองค์กรเครือข่ายเข้าร่วมรณรงค์จำนวน 24 องค์กร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คณะสงฆ์ให้การสนับ สนุนให้วัดทั่วประเทศ จัดกิจกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาและประสานงานกับวัดและประชาคมงดเหล้าจังหวัด ในการรายงานผลการจัดกิจกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำกิจกรรมปีต่อไป
ผู้จัดการ สคล.กล่าวอีกว่า การรณรงค์งด เหล้าเข้าพรรษา ได้ขยายผลของสมาชิกชมรมคนบวชใจสู่การเป็นคนต้นแบบมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ที่กำลังเลิกเหล้า เพื่อมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการออกเยี่ยมเยือนให้กำลังใจผู้ป่วยจากพิษแอลกอฮอล์ กิจกรรมนี้ยังกระตุ้นให้คนในครอบครัว ตลอดจนสังคมได้รู้และทำความเข้าใจกับผู้ต้องการเลิกเหล้า อีกทั้งยังเป็นการจูงใจสำหรับนักดื่มที่อยากจะเลิกเหล้าให้เห็นแบบอย่างที่ดี ขณะนี้มีสมาชิกคนบวชใจประมาณ 3,000-4,000 คน เป็นต้นแบบของการเลิกเหล้าได้สำเร็จ
“ส่วนกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ ซึ่งในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากฝ่าฝืนมีความผิด จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ปีนี้เป็นปีแรกที่บังคับใช้ ซึ่งจะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด” นาย ธีระกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update: 16-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ