ชวนคนไทยลดบริโภคเค็มเพื่อสุขภาพ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับ สสส. ประกาศลดการบริโภคโซเดียมของไทย “มิติใหม่การลดบริโภคเค็มกับอนาคตของสังคมไทย”
เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันเปิด “มิติใหม่การลดบริโภคเค็มกับอนาคตสังคมไทย” ในโอกาสครบรอบ 4 ปีของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผย 4 โครงการงานวิจัยเด่น อาทิ โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก โครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
โครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป และโครงการการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส : อาหารท้องถิ่นภาคต่าง ๆ และอาหารที่นิยมทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงภัยจากการบริโภคเค็มซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย พร้อมกับมอบโล่เกียรติคุณให้กับองค์กรดีเด่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ(ลดโซเดียม) ประจำปี 2559
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินและวิธีการใช้ชีวิต ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก (WHO) การร่วมมือกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามาก
ทำให้สสส. มุ่งหวังว่าถ้าผู้บริโภคลดการบริโภคเค็มได้ ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดโรค NCD ก็จะน้อยลง โดยตั้งเป้าว่าคนไทยต้องลดการบริโภคเค็มจากวันละ 4,000 มก./วัน เหลือวันละ 2,000 มก./วัน ซึ่งต้องลดมากกว่าร้อยละ 50 จากเป้าหมายที่ WHO วางไว้ว่าควรลดให้ได้ร้อยละ 30 ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้จุดประสงค์ของเครือข่ายลดบริโภคเค็มสำเร็จ
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตเป็นหนึ่งในโรค NCD จากข้อมูลพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน
ผลที่ตามมาคือมีภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น จัดว่าเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัวเพราะผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรค กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็สายเกินแก้แล้ว นอกจากนี้ยังต้องรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหรือเสียชีวิตจึงมีค่าใช้จ่ายสูง
โดยใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยโรคในกลุ่มนี้มีสาเหตุหลักจากการบริโภคอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว โครงการต่าง ๆ ของเครือข่ายลดบริโภคเค็มจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการป้องกันโรคไตได้ในอนาคต
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มเป็นการร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ในการสร้างสรรค์งานรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และงานวิจัยงานวิชาการต่าง ๆ เพื่อปรับพฤติกรรมของประชาชนให้ใส่ใจ ลด-ละ-เลิก การบริโภคเค็ม รวมทั้งผลิตผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมซึ่งดีต่อสุขภาพของประชาชน
โดยปีนี้ทางเครือข่ายได้พัฒนางานวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม 4 โครงการ และเชื่อมั่นว่าโครงการต่าง ๆ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและลดการบริโภคเกลือมากขึ้น รวมทั้งยังได้รับการรับรองนโยบายลดการบริโภคเกลือแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืน และเป็นสุข
ในส่วนของโครงการงานวิจัย 4 โครงการเด่น ประจำปี 2559 โดยนักวิจัยของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ประกอบด้วย 1. โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก 2. โครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป 3. โครงการการผลิตเครื่องตรวจสอบความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป และ 4. โครงการ การสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส : อาหารท้องถิ่นภาคต่าง ๆ และอาหารที่นิยมทั่วไปนั้น
นายอารยะ โรจนวาณิชชากร หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก ที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ร่วมมือกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มและภาคเอกชน จัดทำโครงการนี้เพื่อขับเคลื่อนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับลดความเค็มในท้องตลาด มีการกล่าวอ้างหรือแสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับร่างกาย และผลักดันให้ผู้ประกอบการแสดงฉลากโภชนการถูกต้องตามกฎหมาย อย. จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374 ) พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้วันที่ 18 ตุลาคม 2559 (ฉลากเดิมใช้ได้ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2560)
นอกจากนี้ อย. เห็นควรให้มีการผลักดันเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีการลดปริมาณโซเดียมในท้องตลาดมากขึ้น พร้อมกับมีการแสดงข้อมูลปริมาณโซเดียมที่ถูกต้อง และออกสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (healthier logo) ติดหน้าผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนไทยคนต่อไป
อาจารย์ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) กล่าวว่า เป้าหมายการปฏิบัติงานของโครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป คือ การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์อาหารรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดเกลือ เพื่อนำไปทดลองปรับสูตรผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงสร้างความตระหนักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียมออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น
ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งหมด 11 ผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการเริ่มตระหนักว่าสุขภาพมีความสำคัญร่วมกับความอร่อยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เรื่องลดบริโภคเค็มมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญและโทษของการบริโภคเค็ม อุตสาหกรรมอาหารก็จะตื่นตัวกับการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น
ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เกลือเป็นเครื่องปรุงที่มีบทบาทสำคัญมากของอาหารไทย การนำเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารก่อนการบริโภค หรือการตรวจวัดปริมาณโซเดียมคลอไรด์ในปัสสาวะเพื่อตรวจสอบระดับความเค็มที่บริโภคเข้าไปนั้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
โดยเครื่องมือการตรวจวัดความเค็มที่คิดขึ้น มีราคาประหยัด เหมาะกับบุคคลทั่วไป หรือเหมาะกับการนำไปใช้ในการรณรงค์ของ สสส. และสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในห้องปฏิบัติการ และจุดบริการทางการแพทย์ โดยเครื่องตรวจวัดความเค็มที่ประดิษฐ์ขึ้นมีขนาดเล็กพกพาสะดวก ใช้งานง่าย เหมาะกับการตรวจสอบวัดความเค็มของอาหารไทย และสามารถวัดความเค็มได้ในปริมาณที่สูงกว่าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลส่วนประกอบอาหารและเครื่องปรุงรสของตำรับอาหารท้องถิ่น เพื่อเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปริมาณ แหล่ง และรายการอาหารที่มีโซเดียมสูง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรณรงค์การลดบริโภคโซเดียมในท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการสำรวจพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแผนรณรงค์เพื่อการป้องกัน และประเมินติดตามผลการดำเนินงาน
โดยประเมินปริมาณการบริโภคโซเดียมรายบุคคลด้วย ชุดโปรแกรม INMU NCD Dietary Assessment ซึ่งสามารถระบุเจาะจงว่าส่วนประกอบอาหาร หรือเครื่องปรุงใดเป็นแหล่งโซเดียมหลักที่มีผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคมากที่สุด การรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงจึงไม่จำเป็นต้อง ลด-ละ-เลิก เครื่องปรุงรสทุกชนิด
นอกจากนี้เครือข่ายลดบริโภคเค็มยังมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ประกอบการและองค์กรที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดโซเดียม รวมทั้งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเค็มของประชาชนต่อไปในอนาคต