จ.เชียงใหม่ สร้างสังคม ‘กินดี’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จ.เชียงใหม่ สร้างสังคม 'กินดี' thaihealth


กระแสรักษ์สุขภาพ ทำให้คน หันมาใส่ใจกับการเลือกซื้อ เลือกรับประทานอาหารมากขึ้น วัตถุดิบประเภทผัก ผลไม้ จึงถูกคัดสรรเป็นพิเศษ อย่าง ผักผลไม้สีสันงดงาม  ไร้มดแมงไต่ตอม เริ่มถูกมองข้าม  เพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากสารเคมี เกษตรทางเลือกหรือ เกษตรอินทรีย์ จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจและทดลองทำอย่างกว้างขวาง


หากจะมีสักกี่ราย ที่อดทน รอคอย และก้าวข้ามจากเกษตรเคมีมาสู่เกษตรปลอดสารได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากใช้สารเคมี มาใช้ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือสารชีวภาพ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จบริบูรณ์ แต่ต้องใช้หัวใจ แรงกาย ความพยายาม และเวลา  ในการปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยด้วย


ดังเช่นที่สวนข้างบ้านของ อำภา วงค์จักร เกษตรกรอินทรีย์บ้านหนองหลวงพัฒนา ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และสมาชิกโครงการเครือข่ายความ ร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน  สู่สังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ (เกษตรกร ตลาด และผู้บริโภคสีเขียว) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี


ผัก ผลไม้ ที่ผลิดอกออกผล ทั้ง ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด ต้นหอม ผักชี กะหล่ำ มะเขือ ถั่วฝักยาว ทำให้ ป้าอำภาแทบหายจากความเหนื่อยล้าในการทำงานเป็นปลิดทิ้ง เพราะนั่นคือแหล่งอาหารของคนในครอบครัวที่ปลอดภัยจาก สารเคมี และยังสร้างรายได้อย่างเป็น กอบเป็นกำ


ป้าอำภาเริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยก่อนหน้านี้ปล่อยที่ดินประมาณ 15 ไร่ รกร้างมานานกว่า 30 ปี กระทั่งได้อบรมกับ อาจารย์ชมชวน บุญระหงษ์ รองผู้อำนวยวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จึงกลับมาริเริ่มทำในที่ดินของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่ง ภายหลังทราบว่าจากผู้เข้าร่วมอบรมในรุ่นเดียวกัน 52 คน มีคนกลับมาทำจริงแค่ 2 คนเท่านั้น โดยป้าอำภาเริ่มจากการปลูกผักคะน้าในแปลงเล็กๆ และขยายไปสู่ผักชนิดอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่ง แก้วมังกร เพื่อให้เกิด ความหลากหลาย


"คนทำเกษตรอินทรีย์ต้องขยัน หมั่นดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยหมัก และป้องกันศัตรูพืช ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  แต่ปลูกแบบผสมผสานหลากหลายชนิด โรคและแมลงจะได้ไม่ระบาด พอผักเริ่มโต ก็จะให้ลูกสาวช่วยเก็บขาย ทำบัญชีทุกวัน และรวมเงินจากการขายพืชผักไว้เป็นมัดต่างหาก สักระยะหนึ่งก็จะสามารถเก็บรอมไว้เป็นค่าเทอมส่งหลานเรียนได้อย่างต่อเนื่อง" ป้าอำภาบอก


จ.เชียงใหม่ สร้างสังคม 'กินดี' thaihealth


เธอยอมรับว่า การให้ลูกหลานมีส่วนช่วย ทำให้พวกเขาซึมซับการเป็นเกษตรกรอินทรีย์โดยอัตโนมัติ ทุกคนรับรู้ถึงความสุขจากการเห็นพืชผักที่ปลูกไว้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเก็บก็จะพิถีพิถันเพื่อให้ได้ผักสวยงามไว้บริโภค หรือจำหน่าย ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเป็นอาหารปลอดภัย รับประทานแล้วช่วยให้สุขภาพดี ทั้งกระบวนการผลิตยังไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


ด้วยความตั้งใจอยากเห็นชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง และทุกคนในครอบครัว ชุมชน มีสุขภาพดี ทำให้ป้าอำภา ไม่หวงความรู้  แต่พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนและบุคคลที่สนใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ หรือเคล็ดลับเกี่ยวกับ การปลูกพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ และขยายภาคี เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้นอีกด้วย


อโนชา ปาระมีสัก หัวหน้าโครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่สังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ (เกษตรกร ตลาด และ ผู้บริโภคสีเขียว) ของสำนักสร้างเสริม วิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าว่า ป้าอำภา เป็น 1 ในสมาชิกของโครงการ มาตั้งแต่เริ่มต้นช่วงปลายปี 2559 โดยโครงการเน้นทำงานสู่การขับเคลื่อนการบริโภคอาหารอินทรีย์อย่างครบวงจร ใน 5  แผนงานหลัก คือ ด้านเกษตรกร  ด้านการแปรรูป ด้านผู้บริโภค ด้านผู้ประกอบการ แหล่งจำหน่ายอาหารอินทรีย์ และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย


"จุดอ่อนของเกษตรกรไทยมีหลายด้าน เช่น Logistic หรือการขนส่ง ยิ่งสินค้าถูกขนส่งระยะทางไกลแค่ไหน ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังคิดต้นทุนการผลิตไม่ได้ ซ้ำมักจะไม่คิดค่าแรงของตัวเอง ทั้งที่ทำงานหนักตลอดทั้งวัน รวมถึงไม่มีการบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ทางโครงการจึงเข้ามาอบรมเรื่องเหล่านี้ พร้อมกับให้เกษตรกรตั้งราคาผลผลิต โดยอิงจากราคากลางของข่วงเกษตรอินทรีย์  ที่ออกมาทุก3 เดือน" อโนชาอธิบาย


ช่วงแรกโครงการค้นหาคนที่สนใจทำ เกษตรอินทรีย์มาเป็นสมาชิกได้ราว 50 คน แต่ถึงปัจจุบันมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแค่ 30 ราย และ 10 ราย เป็นการปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลักอีก 20 ราย กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เป็นอาชีพอย่างจริงจัง เพื่อให้มีผลผลิตจำหน่ายต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นในการทำงาน จึงไม่ใช่แค่การอบรมภาคทฤษฎี ต้องลงมือสาธิต และให้เขาได้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจัง


จ.เชียงใหม่ สร้างสังคม 'กินดี' thaihealth


ตัวอย่างที่บ้านท่ายาว หมู่ 11 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย ซึ่งแม้จะเคยทำเกษตรกรรมกันมาก่อน และมีที่นาเป็นของตัวเอง แต่อุปสรรคคือไม่มีน้ำ ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ในอดีตการปลูก พืชผักหลังทำนาจึงปล่อยแบบธรรมชาติ ไม่ได้ใส่ใจมากนัก เมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งสนใจร่วมโครงการ จึงต้องมีทำความเข้าใจ และเริ่มอบรมเชิงปฏิบัติการ ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่างๆ "ชาวบ้านขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ใช้พื้นที่ 2 งานเศษ กลางหมู่บ้าน ทำแปลงรวม สำหรับ 30 ครัวเรือนนำร่อง ปลูกผักกาด ข้าวโพด มะเขือ ผักบุ้ง ฟักทอง ตะไคร้ ผักชี พริก โดยไม่ใช้ สารเคมี แต่ใช้น้ำหมัก สารอินทรีย์ที่ช่วยกันทำเป็นทั้งปุ๋ย และช่วยไล่แมลง ซึ่งเมื่อ ชาวบ้านเดินทางผ่านไปมา ก็จะเห็นแปลงพืชผักที่สามารถนำไปรับประทานได้อย่างมั่นใจถึงความปลอดภัยจากสารเคมี กระตุ้นให้อยากเรียนรู้และทดลองทำบ้าง"


อย่างไรก็ตามไม่เพียงในมุมของ การผลิตเท่านั้น ที่มีปัญหาและต้องเร่งแก้ไขขับเคลื่อน ในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจธรรมชาติ มักจะต้องการกินผักผลไม้ชนิดเดียวกันซ้ำๆ ทั้งปี อย่างกะหล่ำปลี บร็อกโคลี ทั้งที่ความจริงแล้วต้องเลือกกินตามฤดูกาล เพื่อให้ได้พืชผักปลอดภัย และราคาไม่สูงเกินไป


ขณะเดียวกันเมื่อหันมามองด้านตลาดสีเขียวที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดในชุมชน ตลาดน้อยอินทรีย์  เจเจมาร์เก็ต หรือข่วงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเปิดจำหน่ายสัปดาห์ละ 3 วัน คือวันอังคาร พฤหัสบดี และวันศุกร์ ถือเป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ชุมชน และผู้บริโภคที่เน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพได้เป็นอย่างดี


ดังนั้นการสร้างสังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ให้เป็นไปตามที่ตั้งหวังไว้ คือการสร้างจุดลงตัวระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคให้ได้ ทั้งผลผลิตและการตลาด

Shares:
QR Code :
QR Code