จ.เชียงใหม่ ขับเคลื่อนระบบและกลไกเพื่อเด็กปฐมวัย
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
จังหวัดเชียงใหม่ขับเคลื่อนระบบและกลไกจังหวัดเพื่อเด็กปฐมวัย เพื่อค้นหาสถานการณ์เด็กปฐมวัยในจังหวัดเชียงใหม่ และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการทำงาน และร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2560 – 2564
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องป่าสักหลวง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อค้นหาสถานการณ์เด็กปฐมวัยในจังหวัดเชียงใหม่ และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการทำงาน และร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยเจ้าหน้าที่/เครือข่ายของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ รวม 300 คน
นางสาวราณี วงศ์ประจวบลาภ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนระบบและกลไกจังหวัดเพื่อเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลไกของการทำงานร่วมกันของภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมที่จะเสริมพลังให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพโดยแนวทางการขับเคลื่อนจะออกแบบตามบริบทของจังหวัด โดยเริ่มจากการสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ค้นหาภาคีร่วมพัฒนาการขับเคลื่อนงานปฐมวัยระดับจังหวัด ร่วมกำหนดเป้าหมายการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ร่วมพิจารณาข้อเสนอการพัฒนายกระดับคุณภาพเด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยหมายถึงเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิตในระยะถัดไป จากสภาพสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย (0-5) ในรอบ 15 ปีที่ผ่าน พบว่าเด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศไทยมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่า มีพัฒนาการโดยรวมล่าช้าถึงร้อยละ 27 เพื่อสำรวจปัญหาเด็กปฐมวัย ในชุมชนและสำรวจความต้องการเห็นเด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงใหม่
การพัฒนายกระดับเด็กปฐมวัยในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยมาเป็นแนวทางซึ่งการขับเคลื่อนงานด้านเด็กปฐมวัยตามแนวทางของโครงการหน่วยวิชาการการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัยที่สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีแนวทางในการขับเคลื่อนโดยใช้ชุมชนท้องถิ่นสู่ระดับจังหวัดเป็นฐานในการพัฒนาสู่ระดับนโยบายในระดับประเทศ ซึ่งกระบวนการหนุนเสริมในการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยกระบวนการเปรียบเทียบความสามารถในการดำเนินงานในด้านกระบวนการและผลลัพธ์ (Benchmarking) ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามเกณฑ์เปรียบเทียบหรือข้อกำหนดเพื่อออกแบบการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และขยายผลการพัฒนาเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป