จ.อุดรธานี เปิดตัว 20 ตำบลต้นแบบป้องกันอุบัติเหตุ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
จังหวัดอุดรธานีเปิดตัวโครงการ "20 ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" ดึง 20 ตำบลสถิติการเสียชีวิตสูงสุดนำร่องประยุกต์ใช้ระบบสุขภาพตำบลผนึกกำลังภาคีขับเคลื่อน ตั้งเป้าปี 2564 เป็นจังหวัดปลอดอุบัติเหตุทางถนน
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.30 น. ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนายแพทย์สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ นายนพดล สันติภากรณ์ กรรรมการผู้จัดการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และ พ.ต.อ.ชัยพงษ์ ทรงพลนภจร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "20 ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" ซึ่งสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี จัดขึ้น เพื่อประสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 7 เขต 8 จังหวัดอุดรธานี
ปีงบประมาณ 2560 (ข้อมูล 1 ตุลาคม 2559 – 14 กรกฎาคม 2560) จังหวัดอุดรธานีเกิดเหตุ 14,264 ครั้ง บาดเจ็บ 16,512 คน (1047.17 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต 408 คน (25.90 ต่อแสนประชากร) หรือเฉลี่ยเดือนละ 43.56 คน วันละ 1.43 คน เมื่อเทียบผู้เสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 80 คน (ช่วง 1 ตุลาคม – 30 มิถุนายน ปี 2559 = 312 คนคน และ ปี 2560 = 392 คน) สาเหตุจากพฤติกรรมที่เร่งรีบ ใจร้อน ไม่เคารพกฎจราจร ขับรถเร็วดื่มแล้วขับไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดถนนในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน เป็นทางตรงขยายกว้างไม่มีระบบการควบคุมความเร็ว ซึ่งถนนอุดรธานี-สกลนคร เคยติดอันดับ 2 ถนนเสียชีวิตมากที่สุดของประเทศปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 39 คน พาหนะที่เกิดอุบัติส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ ในขณะที่ถนนหลักเป็นรถบรรทุก
โครงการตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็นการคัดเลือกตำบลที่มีสถิติเสียชีวิตสูงสุด ปี 2559 ขับเคลื่อนร่วมกับกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ผ่านขึ้นสู่ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) โดยใช้กลยุทธ์ "5 ส.5 เสาหลัก" มีเป้าหมายลดลงจำนวนอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 50 สร้างถนนตัวอย่างปลอดภัย นักเรียนอนุบาลผ่านเกณฑ์ประเมินวินัยจราจรร้อยละ 90 ตั้งเป้าปี 2561 ผ่านตำบลต้นแบบ ร้อยละ 50 ปี 2562 ผ่านอำเภอต้นแบบร้อยละ 50 ปี 2563 ผ่านอำเภอต้นแบบร้อยละ 80 และในปี 2564 เป็นจังหวัดต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน