จ.ระยอง ยังติดแชมป์อุบัติเหตุทางถนนสูง

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จ.ระยอง ยังติดแชมป์อุบัติเหตุทางถนนสูง thaihealth


แถลงข่าวเปิดผลรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2561


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Road Safety foundation) แถลงข่าวเปิดผลรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ปี 2561 ที่ รร.แกรนด์ เมอร์เคียว


ดร.ปรีดา จาตุรพงค์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ผลการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยปี 2561 โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบสถานการณ์ในประเทศไทยยังน่าวิตก ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนน 20,169 ราย หรือ 29.9 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายอัตราการตายบนถนนต้องเหลือ 17.9 คนต่อประชากรแสนคนในปี 63 โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งผู้ขับขี่จักรยานยนต์เสียชีวิต 70% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 14% คนเดินเท้า 10% รถจักรยานและรถใหญ่รวมกัน 6% และจังหวัดที่มีการเสียชีวิตสูงสุดต่อประชากรแสนคนของปี 2561 เรียงลำดับจากมากไปน้อย 10 อันดับแรก คือ ระยอง (65.53) ขณะที่ในปี 59 อัตราเสียชีวิต 74.1 ต่อประชากรแสนคน ชลบุรี (49.63) จันทบุรี (49.02) สระบุรี (48.06) ฉะเชิงเทรา (47.55) ปราจีนบุรี (47.19) สระแก้ว (45.97) ประจวบคีรีขันธ์ (45.01) พระนครศรีอยุธยา (44.90) และนครนายก (43.06) ส่วนจังหวัดที่มีการเสียชีวิตต่ำสุดต่อประชากรแสนคน 10 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน (13.09) กรุงเทพฯ (13.48) ยะลา (15.22) ปัตตานี (15.60) นราธิวาส (15.83) สตูล (19.28) นครปฐม (19.34) หนองคาย (19.34) หนองบัวลำภู (20.50) นนทบุรี (20.78)


ทั้งนี้ พบจังหวัดที่มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยสรุปข้อมูลตั้งแต่ปี 2554-2561 คือ บึงกาฬ 38% อำนาจเจริญ 30% เลย 30% นนทบุรี 28% กาฬสินธุ์ 27% ศรีสะเกษ 26% สระแก้ว 22% ยโสธร 20% ชัยภูมิ 13% และจังหวัดมุกดาหาร 13% ตามลำดับ ขณะที่ 10 จังหวัดที่มีการลดลงของอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนดีที่สุด ตั้งแต่ปี 2554-2561 คือ ยะลา-81% สตูล-77% สมุทรสาคร-71% สุราษฎร์ธานี-63% ภูเก็ต-62% สงขลา-59% พะเยา-5% ชุมพร-55% ตรัง -49% และนครพนม-47%


จ.ระยอง ยังติดแชมป์อุบัติเหตุทางถนนสูง thaihealth


นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธาน สอจร. และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านอุบัติเหตุและวิกฤติบำบัดขององค์การอนามัยโลก และ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลปีใหม่ถือเป็นนโยบายที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง จาก 21,607 ราย ในปี 2560 เป็น 20,169 รายในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกปีละ 80,000-100,000 ราย บางรายต้องกลายเป็นผู้พิการถาวรถึงร้อยละ 4.6 ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ 2560) ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนในช่วงปี 2554-2556 เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างรุนแรง ดังนั้นภาคีเครือข่ายเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น 3 ประการ ประกอบด้วย 1.ให้การป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในแผนแม่บทของรัฐบาลภายไต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) 2.มอบหมายให้มีการศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและการลดอุบัติเหตุทางถนนปี 2554 เพื่อให้ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3.มีนโยบายและแผนเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของถนนที่ชัดเจนและวัดผลได้


ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศิตมโนชญ์ รองประธาน สอจร. กล่าวว่า สำนักความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม ระบุงบประมาณใช้แก้ไขอุบัติเหตุอยู่ที่ 14,700 ล้านบาท หรือลงทุน 1 บาท ได้ผลตอบแทน 38 บาท โดยฝากถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาอุบัติเหตุต้องลดลง ขอให้จัดทำแผนลงทุนยกระดับความปลอดภัยทางถนน ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินงานระดับจังหวัดและผลที่ออกมาอุบัติเหตุลดลง

Shares:
QR Code :
QR Code