จ.ปทุมฯ นำร่อง เครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัย
หนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารประเทศ ที่สำคัญของรัฐบาล คือ ความปลอดภัยด้านอาหารการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอย ผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการ ดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหารด้วยการคำนึงถึงสุขภาพของตนเอง รวมทั้งช่วย ภาครัฐในการเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถครอบคลุมและ เข้าถึงทั่วทุกพื้นที่
แฟ้มภาพ
ดังนั้นจึงมีโครงการสร้างเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัย รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภคมีความรู้ มีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการเลือกซื้ออาหารที่วางจำหน่ายในร้านค้าและการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ดังนั้นการ พัฒนายกระดับ จากชมรมร้านอาหารสู่เครือข่ายประคมอาหารปลอดภัย จะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการผลิตอาหารที่ถูกต้องก็ย่อมส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ มีความปลอดภัยและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีอาชีพที่มั่นคงถาวรต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ผลิตเบื้องต้น ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารผู้ผลิตและจำหน่ายอาหาร หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลรวมถึงผู้บริโภค ซึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงสิทธิความรับผิดชอบและหน้าที่ของตน ในการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก
น.พ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญของโลกอันดับต้นๆ นอกจากการผลิตอาหารให้เพียงพอและส่งออกแล้ว ความปลอดภัยเป็นนโยบายที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดำเนินงานอาหารปลอดภัย ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยการขับเคลื่อนจากทางภาครัฐและภาคีเครือข่ายนอกกระทรวงฯ การดำเนินงานต้องเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน เช่นการขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายข่าวสารความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (International Food Safety Authorities Network: INFOSAN) สำหรับปี 2559 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยสู่เครือข่ายในประเทศ รองรับประชาคมอาเซียน โดยการจัดตั้งประชาคมอาหารปลอดภัยให้ครบ 76 จังหวัด เพื่อรณรงค์อาหารปลอดภัยทั้งห่วงโซ่ ผ่านโครงการรณรงค์อาหารปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน องค์ราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดทั้งปี ดังนั้นเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัยเป็นความร่วมมือที่สำคัญ กับทาง สสส.โดยผ่านโครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ "อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์" ที่จะมามีส่วนสำคัญผลักดันร่วมกับ ภาครัฐต่อไป
นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยของจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้เพราะจังหวัดปทุมธานีมี นโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการสนับสนุนให้เป็นจังหวัดที่มีอาหารปลอดภัย ต่อผู้บริโภคเพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด ดังนั้นการก่อตั้งเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัยจังหวัดปทุมธานีเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีคุณพิมพ์ประวีณ์ ทองประสงค์ เป็นประธานเครือข่ายฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับชมรมร้านอาหารจังหวัดปทุมธานี เป็นแกนหลักเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมหลัก เช่นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอย การรณรงค์อาหารปลอดภัย การจัดมหกรรมอาหารปลอดภัย การตรวจเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจ การส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย เน้นการทานผักผลไม้ และการวางแผนสร้างระบบคุณภาพความปลอดภัยของอาหารทั้งห่วงโซ่ของจังหวัดปทุมธานี
แฟ้มภาพ
ด้านนายธนชีพ พีระธรณิศร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม และสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เวลาให้ภาคเอกชน เจ้าของ ชมรม สมาคม ด้านอาหารปลอดภัยมีส่วนร่วม ในการจัดการด้านอาหารปลอดภัยทั้งระบบ วันที่ 11 กันยายน 2558 จะมีกิจกรรมการเปิดตัวเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัยจังหวัดปทุมธานีเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และประชุมกำหนดวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยตามบทบาทประชาคมจะต้องมีการควบคุมวัตถุดิบให้ปลอดภัย มีสารวัตร อาหารปลอดภัย (Mr.Food Safety) ประจำร้าน หรือมี เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของอาหาร อย่างน้อย 1 คน จะมี การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนได้ทั่วประเทศพร้อมกัน เริ่ม 1 ตุลาคม 2558 และในปี 2559 จะจัดตั้งประชาคม สมาคมอาหารปลอดภัยแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการรณรงค์อาหารปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน ราชินี และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์
ส่วน น.ส.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ "อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพฯ ได้ดำเนินงานเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนในทุกมิติ เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดต่างๆ (NCDs) สร้างเครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น พัฒนาระบบคุณภาพร้านอาหาร เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคอาหารปลอดภัย จากการดำเนินโครงการฯ เป็นการต่อยอดมาจากการ ทำ MOU ในเรื่องผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้ประกาศเป็นวาระของจังหวัด ให้เป็น "เมืองอาหารปลอดภัย ใส่ใจดูแลสุขภาพ" จึงทำให้เกิดภาคีเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัย มีการทำงานเชิงบูรณาการในหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันทำให้เป็นต้นแบบ เช่นจังหวัดปทุมธานี ที่มีการบริหารจัดการตัวเอง สุขภาวะของประชาชน ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สนับสนุนนโยบายการพัฒนาของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านอาหารปลอดภัยทั้งระบบ จะต้องทำควบคู่ไปพร้อมกันกับภาคีเครือข่ายประชาคมอาหารปลอดภัย ทำงานพัฒนายกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานสากล สร้างการรับรู้ด้านอาหารปลอดภัย กับ "อาหารข้างทาง" หรือ "Street Food" เพื่อสนองนโยบายการพัฒนาประเทศรองรับประชาคมอาเซียนของรัฐบาลอีกด้วย สำหรับจังหวัดต่อไปเป็นพื้นที่ที่สอง คือที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 17-18 กันยายน 2558
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดยจรัส พิบูลย์ปุญญโชติ