จุฬาฯนำร่องทำโครงการ 5 ส.
ส่งเสริมสุขภาพในชุมชน
เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง ซึ่งไม่เป็นเพียงย่านธุรกิจที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์”เกื้อกูล” โดยมีเป้าประสงค์ที่สำคัญคือ สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะของชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนรวมทั้งเป็นการเสริมภาพลักษณ์และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนด้วย
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัย สำนักงานจัดการทรัพย์สินในฐานะที่ทำหน้าที่บริหารจัดเก็บรายได้ในที่ดินของมหาวิทยาลัยบริเวณนอกเขตการศึกษา จึงจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เช่า ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการในเขตพาณิชย์ของมหาวิทยาลัย
โครงการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน 5 ส. ได้แก่ สยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน สีลม และสวนลุมพินี จึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สินกับชุมชนบริเวณรอบพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและชุมชนใกล้เคียง เพื่อลดความขัดแย้งและความเครียด โดยการสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจรวมถึงการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน
เรื่องสุขภาวะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในระยะยาว โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกับ “โครงการบ้านนี้มีสุข”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโครงการนำร่องด้วย “สยามสแควร์ อาหาร
ปลอดภัย รสชาติดี มีความสุข” (safe food good taste feel happy @siam square) และ “โครงการพัฒนาเครือข่าย สร้างเสริมสุขภาพช่องปาก”(developing cu-oral health promotion network : cu-ohp network)
โครงการสยามสแควร์ อาหารปลอดภัยรสชาติดี มีความสุข เป็นโครงการที่ห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวันและสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ทำการตรวจสุขลักษณะสถานประกอบการบริเวณสยามสแควร์จำนวน 150 แห่งโดยสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารมาทำการตรวจสอบวิเคราะห์หาเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อันทันสมัยและแม่นยำในห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหารของคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ
“โครงการนี้จะก่อประโยชน์ให้กับทั้งผู้ประกอบการอาหารและผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการอาหารได้ทราบถึงสุขลักษณะในสถานประกอบการของตนเอง มาตรฐานและความปลอดภัยของอาหาร จะได้นำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการคุ้มครองสร้างความมั่นใจเรื่องอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ”ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุลอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
ผู้ประกอบการอาหารที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจะได้รับป้ายเพื่อรับประกันถึงคุณภาพความปลอดภัยและความอร่อย โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม 2553
ขณะที่โครงการพัฒนาเครือข่าย สร้างเสริมสุขภาพช่องปากเป็นโครงการจากภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาฯ โดยการส่งนิสิตชั้นปีที่ 5 ไปฝึกปฏิบัติงานทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร บริเวณชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงการเสริมสร้างสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553-กุมภาพันธ์2557
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update: 19-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร