“จุลกฐิน ถิ่นไท ยวน” ต้นแบบงานบุญ โบราณ

แนวทางงานบุญปลอดเหล้า

 

“จุลกฐิน ถิ่นไท ยวน” ต้นแบบงานบุญ โบราณ

           ในพื้นที่ จ.ราชบุรี นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไท ยวน แล้วยังมีหลากเชื้อชาติประกอบกัน ได้แก่ ชาวไทยทรงดำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ปากท่อ และชาวกะเหรี่ยง ซึ่งต่างกลุ่มต่างก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในงานประเพณีจุลกฐินปีนี้ ได้จัดงานรื่นเริงโดยนำการละเล่นและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมฉลองกฐินในครั้งนี้ด้วย

 

          เทศกาลลอยกระทงที่เพิ่งผ่านพ้นไปเป็นสัญลักษณ์แห่งการจดจำในอีกช่วงเทศ กาลว่า งานทอดกฐินได้หมดลงแล้วในปีนั้น ๆ งานบุญยิ่งใหญ่อย่างกฐิน กำหนดให้หนึ่งปีแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว และมีกำหนดการทอดเพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป เรียกว่า สมัยจีวรกาล คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 พุทธศาสนิกชนนิยมบำเพ็ญบุญทอดกฐินด้วยการถวายผ้าใหม่แด่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดจนครบ 3 เดือน

   

           กฐิน แปลว่าไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าเพื่อสะดวกแก่การตัดเย็บในสมัยโบราณ ที่มาของการทอดกฐิน เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ในแคว้นมคธ ขณะนั้นจีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำคร่า ท่านจึงเสาะแสวงหาผ้าบังสุกุลที่มีคนนำมาทิ้งตามกองหยากเยื่อ ตามสุสานที่บุคคลห่อศพมาทิ้งตามทาง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ที่มีผู้ศรัทธานำมาทิ้งถวาย ค่อย ๆ เก็บทีละเล็กทีละน้อยนำมาตัดเย็บเป็นจีวร จนเป็นที่มาของคำว่า ผ้าป่าในปัจจุบัน

   

          ในครั้งนั้นนางชาลีนีเทพธิดา ซึ่งเมื่ออดีตชาติที่ 3 เคยเป็นภรรยาของพระอนุ   รุทธเถระ เห็นพระเถระเที่ยวเสาะหาผ้า ครั้งจะนำถวายตรงเกรงว่าพระเถระอาจไม่รับ จึงจัดการถวายแบบผ้าบังสุกุลโดยนำไปวางไว้แล้วเอาหยาก เยื่อถม เผยให้เห็นชายผ้า ครั้นพระเถระได้ผ้าบังสุกุลพอสำหรับทำจีวรแล้ว จึงบอกเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย   มาร่วมกันจัดทำ แม้แต่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้พระที่มาช่วยเย็บจีวร เป็นที่เบิกบานแก่เหล่าพระสงฆ์ที่เข้ามาร่วมทำจีวร ขณะที่อุบาสกอุบาสิกา จะจัดหาน้ำดื่มมาถวายพระภิกษุสงฆ์แสดงถึงการช่วยเหลือกัน ต่างจากปัจจุบันที่  มีจีวรสำเร็จรูป และการถวายปัจจัยตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

   

          แก่นแท้ของกฐินคือ  ผ้า ในยุคสมัยที่ผู้คนยังทอผ้าไว้ใช้เอง เมื่อถึงฤดูกาลกฐินชาวบ้านจะมาร่วมแรงร่วมใจทอผ้ากฐิน ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยเชื่อว่าจะได้แรงบุญอันสูงส่ง งานบุญกฐินในปีนี้ สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคตะวันตก สำนักพระพุทธศาสนา จ.ราชบุรี โรงพยาบาลสวนผึ้ง และสำนักงาน จ.ราชบุรี จัดงานจำลองการทอดกฐินโบราณแบบ จุลกฐินอันเป็นประเพณีที่ห่างหายไปถึง 30 ปี ณ วัดประชุมพลแสน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุขเป็นประธาน ภายใต้ชื่องาน  ปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน ถิ่นไท ยวน

   

          นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม คณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า การร่วมกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในปีนี้ นอกจากสืบทอดประเพณีอันดีงามแล้ว ยังมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบการทำบุญสืบสานประเพณีดั้งเดิมสมัยพุทธกาลเพื่อเป็นอีกแนวทางของงานบุญ ปลอดเหล้า เพราะจากข้อมูลพบว่าประชาชนนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานกฐิน ซึ่งมีถึง 22 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งสิ้น 5,978 ตัวอย่าง และ 41 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการเลี้ยงเหล้าในงานบุญเป็นเรื่องปกติ

   

          จุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคน  หมู่มาก ต้องรีบทำให้เสร็จ    จึงมีอีกชื่อว่า กฐินแล่น” (หมายถึง เร่งรีบ ฟ้าว ต้องวิ่งหรือแล่นตามภาษาถิ่น จึงจะเสร็จทันเวลา) เจ้าภาพผู้ที่คิดจะทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมีมาก มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือเพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝักที่มีปริมาณมากพอมาทำเป็นจีวร มาผ่านกรรมวิธีปั่นเป็นเส้นด้าย ทอออกมาเป็นผืนผ้าแล้วมอบแด่พระภิกษุผู้ซึ่งเป็นองค์ครอง โดยจะนำไปจัดการต่อไปตามพระวินัย หลังจากนั้นผู้ทอดผ้าต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้ามาเย็บย้อม ตากแห้ง รีดให้เรียบจึงนำไปถวายพระภิกษุผู้ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพิธีกรานกฐินในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมากพอ จะตัดการทอ ผ้า แต่เริ่มต้นการนำผ้าขาวผืนใหญ่มาตัดเป็นจีวร ทำพิธีแบบเดียวกัน

   

          ปัจจุบันการปั่นฝ้าย ทอผ้าห่างหายไปจากสังคมไทยมากแล้ว การทำผ้ากฐินจะใช้วิธีเปลี่ยนผ้ามาจากร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ สมมุติว่าเป็นผ้าตกจากร้าน นำมาถวายพระ เมื่อเข้าสู่พิธีทอดกฐิน เจ้าภาพและโยมอุบาสกอุบาสิกา จะต้องแสร้งทำเป็นเย็บปลายจีวร โดยเลาะตรงปลายจีวรเล็กน้อย แล้วใช้เข็มด้นผ้าพอเป็นพิธีว่าเย็บผ้ากฐิน ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนอันยุ่งยากออกไป

   

          พระสมุทวันชัย เตชพ โล ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัด ประชุมพลแสน บอกว่าองค์กฐินจะครบสมบูรณ์พระผู้ครองผ้ากฐินต้องครองอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ให้ไตรจีวรฉีกขาด ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมหรือการเดินทางไปพำนักที่ใดต้องนำผ้ากฐินติดตัวไปด้วย ส่วนใหญ่พระผู้ครองกฐินจะเป็นเจ้าอาวาส แต่ในกรณีที่เจ้าอาวาสไม่สะดวกจะมอบหมายให้พระลูกวัดองค์อื่นที่อยู่ในสมณเพศจนครบ 3 เดือน ส่วนการถวายเงินให้กับทางวัดในงานทอดกฐินนั้นถือว่าเป็นบริวารกฐิน แล้วแต่ทางวัดจะกำหนดว่าต้องนำเงินกฐินไปสร้างศาสนสถานใด หรือการใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟในวัด นอกจากนี้ยังต้องถวายเครื่องอัฐบริขาร บาตรและเครื่องใช้ของพระภิกษุถือเป็นบริวารกฐินอีกชนิด

   

           อานิสงส์แห่งการร่วมบุญในงานทอดกฐินนั้นเชื่อว่าจะทำให้อิ่มเอมใจจากการให้ และเชื่อว่าเมื่อพ้นจากโลกนี้ไปจะได้ขึ้นสวรรค์ ล้างหนี้กรรม การงานก้าวหน้า อายุมั่นขวัญยืนพระสมุทวันชัย  เตชพโล กล่าว

   

          ไพรัช บัวบังใบ กรรม การสภาวัฒนธรรม จังหวัดราชบุรี ประธานโครงการวัฒน ธรรมสายใยชุมชน ต.ห้วยยางโคน จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า บริเวณวัดประชุมพลแสน เป็นที่ตั้งของบ้านนาขุนแสน หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีคนไทยเชื้อสายไท ยวน อพยพมาจากเมืองโยนกในเมืองเชียงตุง แคว้นสิบสองปันนามาเมื่อ 200 ปีมาแล้ว นิสัยอันโดดเด่นของชาวไท ยวน คือขยัน ซื่อสัตย์ อดทน และชอบงานรื่นเริง และที่สำคัญมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อมีงานบุญต่าง ๆ ชาวบ้านจะมาร่วมแรงร่วมใจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างดี ขณะเดียวกันยังยึดมั่นในประเพณีถือผีแต่ดั้งเดิม มีฝีมือด้านงานจักสาน งานทอผ้า และงานเย็บปักถักร้อย โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจก งานทอผ้าที่มีชื่อเสียง

   

          ในพื้นที่ จ.ราชบุรี นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไท ยวน แล้วยังมีหลากเชื้อชาติประกอบกัน ได้แก่ชาวไทยทรงดำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.ปากท่อ และชาวกะเหรี่ยง ต่างกลุ่มต่างก็มีวัฒนธรรมที่ ต่างกันในงานประเพณีจุลกฐินปีนี้ ได้จัดงานรื่นเริงโดยนำการละเล่นและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมฉลองกฐินในครั้งนี้ด้วย

   

          ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำซึ่งมีฝีมือในการทอผ้า รับหน้าที่ทอผ้ากฐิน เริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายทอผ้าเย็บออกมาเป็นไตรจีวร ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนพระอาทิตย์ขึ้น ต้องดำเนินการภายในวันเดียวให้เสร็จสิ้นตามแบบโบราณ การทอผ้าด้วยกี่กระตุกของชาวไทยทรงดำ ทำให้สามารถทอผ้าตามระยะเวลาที่กำหนดในพิธีจุลกฐินในปีนี้ ได้ผ้าถึง 24 เมตร

   

          ในช่วงสายของอีกวันนำผ้ามาที่ตัดเย็บเป็นจีวร ผ้าสบง ผ้าสังฆาฏิ และผ้ารัดประคด รวมทั้งผ้าห่มพระประธาน มาย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งได้มาจากแก่นไม้ฝาง จากบันทึกแผ่นศิลาทรายในเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.สวนผึ้ง บันทึกไว้ว่า แก่นฝางย้อมผ้า ได้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองกาสาวพัสตร์ อันเป็นสีจีวร (saffron) ของพระภิกษุใน บวรพุทธศาสนา เมื่อนุ่งห่ม โดยพระอริยสงฆ์จะเปล่งประกายรังสีเจิดจ้า เรียกว่า   ฉัพพรรณรังสีซึ่งปัจจุบันสีเหลืองที่ใช้ย้อมจีวรของพระภิกษุสงฆ์ ส่วนหนึ่งคงใช้ผงจากแก่นไม้ฝาง

   

          รร.บ้านตะโกล่าง ใน อ.สวนผึ้งได้สืบค้นทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่าป่าในแถบสวนผึ้งมีต้นฝางขึ้นอยู่จำนวนมาก และเมื่ออดีตเป็นศูนย์กลางของการผลิตแก่นฝาง ปัจจุบันมีการใช้แก่นฝางในการทำเป็นสมุนไพรบำรุงธาตุ จนลืมว่าเป็นส่วนสำคัญในพิธีทำผ้ากฐิน

   

          ตลอดเวลาพิธีทอดกฐิน ณ วัดประชุมพลแสนก่อนหน้าวันลอยกระทงหนึ่งวัน การ จัดงานได้จำลองแบบโบราณ และได้จัดกิจกรรมการละเล่นการแสดงของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อฉลององค์กฐิน ไม่ ว่าจะเป็น การแสดงหนังใหญ่ วัดขนอน รำไท ยวน รำกะเหรี่ยง เกมกีฬาชาวกะเหรี่ยง เช่น วิ่งโง กีฬาเข็นครก เป็นงานบุญกฐินปลอดเหล้า นับเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นนำไปเป็นตัวอย่างการจัดพิธีทอดกฐินให้กับวัดต่าง ๆ ได้ในปีหน้า

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

 

update: 05-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code