จุดประกายเยาวชนไทย วัดใจ 30 วันไม่พนัน เลือกมันส์ทางอื่น

ข้อมูลจากกิจกรรม เปิดเทศกาลฟุตบอลยูโร 2024 “ดูฟุตบอล สนุกได้ ไม่ต้องพนัน”

                    “ฟุตบอล” เป็นอีกหนึ่งเกมกีฬาที่เป็นความชื่นชอบของคนไทยมานาน โดยเฉพาะเกมแข่งขันบอลนัดสำคัญ ซึ่งปีนี้ ฟุตบอลยูโร 2024 กำลังวนเวียนมาขับเคี่ยวเกมกีฬากันอีกครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม

                    ในอดีตความสนุกการดูเกมกีฬา เริ่มจากการลุ้นทีมที่ชื่นชอบ แต่ต่อมากลับกลายเป็นเกมแห่งความท้าทายที่ต้องเสริมเติมรสชาติด้วย “การพนัน” เพื่อเพิ่มความเร้าใจ สุดท้ายกลายเป็น จุดเริ่มของการเสพติดที่สร้างหายนะครั้งใหญ่ หลายรายที่ต้องสูญเสียเงินทองทรัพย์สิน ด้วยถลำสู่วังวนพนันแบบถอนตัวไม่ขึ้น

                    “เทศกาลบอลยูโร 2024 คาดว่าจะเป็นช่วงที่มีการเล่นพนันฟุตบอลเยอะ ทำให้เราอยากใช้ช่วงเวลานี้ในการกระตุ้นรณรงค์จูงใจให้งดการเล่นพนัน”   

                    คำอธิบายจาก ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยถึงแรงจูงใจ ที่ สสส. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งใหญ่ รณรงค์เชิญชวนให้ทุกคน “ดูฟุตบอล สนุกได้ ไม่ต้องพนัน” ในกลุ่มเยาวชนผ่าน กิจกรรม EURO U-NO CHALLENGE “30 วันไม่พนันเลือกมันส์ทางอื่น” ในกลุ่มมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 5 แห่ง ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยุโรป ที่เชื่อกันว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่เกิดกระแสการพนันฟุตบอลสูงสุดอีกช่วงหนึ่ง โดยหวังจะช่วยสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของพนัน โดยเฉพาะนักกีฬาเยาวชนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ดูกีฬาอย่างสนุกโดยไม่มีพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง

                    คนไทยเสียค่าพนันบอลหลักแสนล้าน

                    ก่องกาญจน์ ยังเล่าถึงผลการสำรวจสถานการณ์พนันของไทยในปี 2564 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าคนไทยเล่นการพนันฟุตบอลมากเป็นอันดับ 4 รองจากสลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และบาคาร่า  โดยมีผู้เล่นประมาณ 3.8 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 กว่า 3 แสนคน และมีวงเงินหมุนเวียนในตลาดพนันในปี 2564 มากถึง 181,168 ล้านบาท

                    สำหรับกิจกรรม EURO U-NO CHALLENGE “30 วันไม่พนันเลือกมันส์ทางอื่น” จะเดินสายทำกิจกรรมสร้างการตระหนักรู้และเท่าทั้นแก่เยาวชนนักศึกษา ในกลุ่มมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตเชียงใหม่ วิทยาเขตศรีสะเกษ วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตชลบุรี วิทยาเขตตรัง ซึ่งมีทั้งการจัดกิจกรรมให้ความรู้เท่าทันพนันบอล การจัดเสวนา นิทรรศการ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามาอธิบายให้ฟังว่าธรรมเป็นนักกีฬาถึงมีโอกาสเสี่ยงติดพนันบอลเช่นกัน

                    “เนื่องจากเยาวชนวัยรุ่นเข้าถึงการพนันออนไลน์ได้มากที่สุด ทำให้ สสส.มองเห็นความสำคัญของการสร้างความรอบรู้เท่าทันให้กับเยาวชนนักกีฬาที่ไม่ควรกลายเป็น นักกีฬาที่ติดพนันเสียเอง”

                    เสียอะไรไม่เท่า เท่ากับสูญเสียตัวตน

                    รู้หรือไม่ แม้ไม่ใช่สิ่งเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท แต่การพนันก็ทำให้คน “เสพติด” ได้เช่นกัน ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ให้ข้อมูลว่า

                    “ในทางสุขภาพจิต ถ้าเราถึงขั้นของการติด นั่นแสดงว่าเป็นกระบวนการเจ็บไข้แล้ว ส่วนใหญ่คนที่ติดการพนัน เล่นไปนานนานมักมีเสียมากกว่าได้  ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเสียเรื่องของเงินอย่างเดียว เพราะในขณะที่พอเรากำลังหมกมุ่นอยู่กับการพนันเนี่ย ยังจะก่อเกิดพฤติกรรมในแง่ลบตามมา เช่น การกลายเป็นคนไม่รักษาเวลา การไม่รักษาคําพูด การเสียการงานและเสียความรับผิดชอบ ที่สําคัญสุดคือเสียความสัมพันธ์ เพราะคนติดพนันส่วนใหญ่ เริ่มโกหกคนรอบตัวใกล้ชิด เริ่มมีการบิดเบียนเงินทองของคนใกล้ตัว”

                    “หากแต่สูญเสียอะไรคงไม่เท่ากับการที่เราเริ่มสูญเสียความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง” ธนากรเอ่ยต่อว่า การอยู่ในสถานการณ์ลบเหล่านี้ส่งงผลให้อารมณ์คนเราดิ่งลงเรื่อย ๆ และอาจเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า

                    “มีคําถามว่ามันจะนําไปสู่การติดอย่างอื่นได้ไหม เคยมีกรณีที่หลายคน เมื่อเครียดซึมเศร้า แล้วหันไปหาสิ่งเสพติด หรือนอกจากติดพนันแล้ว อาจจะเกิดการติดเหล้าหรือว่าการใช้สารเสพติดเพื่อที่จะชดเชยอะไรบางอย่าง”

                    รู้ได้อย่างไร ว่าคนชิดใกล้ติดพนัน

                    หากเราอยากทราบว่าคนรอบตัวใกล้ชิดกำลังติดการพนัน จะมีวิธีสังเกตได้อย่างไร

                    เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มีคำแนะนำว่า การจะทราบว่าใครเล่นการพนันอาจเป็นเรื่องยากกว่าเดิม เพราะยุคปัจจุบันพนันบอลมักเล่นกันทางออนไลน์ ทำให้ตรวจสอบได้ยากว่าใครเล่นหรือติด

                    สิ่งที่คนรอบตัวควรทำคือ พยายามมีสัมพันธภาพใกล้ชิดที่ดีกับลูกหลาน เพราะเมื่อเขาเริ่มมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป มันจะส่งสัญญาณบางอย่างได้

                    “ลองสังเกต ว่าหากเขาเริ่มมีภาวะอารมณ์แกว่ง เดี๋ยวอารมณ์ดีเดี๋ยวอารมณ์ไม่ดี แล้วมันสัมพันธ์กับผลการแข่งขันฟุตบอล อาจตั้งข้อสงสัยเบื้องต้นว่ามีเรื่องของการเข้าไปเล่นพนันหรือเปล่า หรือการเช็คในเรื่องสถานภาพการเงิน โดยอาจสังเกตว่า เดี๋ยวมีเงินใช้จ่ายมื้อเติบ หรืออยู่ดีๆ ทําไมไม่มีเงิน หรือว่าทรัพย์สินของมีค่าที่เป็นของส่วนตัวเริ่มหายไป อาจเป็นสัญญาณว่าลูกหลานกำลังติดพนันบอล” เขาเอ่ย

                    แต่เมื่อพบแล้ว อย่าเพิ่งไปตกใจ อย่าเพิ่งไปมองในแง่ร้ายแล้วกลายเป็นการจับผิด เรื่องเนี้ยอาจจะต้องค่อยๆ ดูกันไปและถึงแม้ว่าถึงขั้นที่เค้ามีปัญหา แต่การลงโทษอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูก”

                    ธนากรกล่าวว่า อยากให้สังคมและครอบครัวมองว่าคนที่มีอาการติดพนันเป็นเหมือนคนป่วยคนหนึ่ง

                    “เราต้องแยกอาการป่วยออกจากคนของเรา ถ้าไปโทษเพราะว่าเค้าเป็นต้นเหตุของผู้สร้างปัญหานี้ มันยิ่งซ้ำเติมให้เขาจมดิ่งลงไป  คนติดการพนันเขายังเป็นคนเดิม คนที่เรารักเหมือนเดิม แต่ว่า ขณะนี้เขากำลังป่วย มันต้องเอาผีพนันออกไป” เพราะฉะนั้นถ้าติดการพนันแล้ว จําเป็นต้องได้รับการรักษา หรือต้องเข้าสู่กระบวนการบําบัดจากผู้เชี่ยวชาญ

                    เด็กกับผู้ใหญ่ใครติดกว่ากัน

                    “คนที่ถ้าเล่นพนันตั้งแต่เด็ก โอกาสติดง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าเด็กจะมีความยับยั้งชั่งใจน้อยกว่า จริงๆ สิ่งนี้สัมพันธ์กับสมอง เนื่องจากในสมองส่วนที่เป็นการควบคุมของวัยเด็กยังไม่แข็งแรงใช่ เพราะต้องอายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป สมองส่วนนี้ถึงจะพัฒนาเต็มที่ ฉะนั้นถ้าเด็กเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุต่ำกว่า 20 ปี นับเป็นช่วงวัยที่เป็นอันตราย เนื่องจากยังขาดระดับการยับยั้งชั่งใจไม่มากเท่าผู้ใหญ่ เด็กจะติดได้ง่ายกว่า” ธนากรให้ข้อมูลเสริม

                    ส่วนถ้าติดแล้วจะเลิกได้ง่ายหรือยากกว่ากัน เขาเอ่ยว่า ขึ้นอยู่ที่ภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ว่ามีภูมิที่แข็งแรงแค่ไหนและอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร แต่คาดว่าหากเด็กติดการพนันแล้ว อยากเลิกเองไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

                    นักกีฬากับการพนัน

                    เพราะค่านิยมที่เข้าใจว่าการพนันคือความสนุกท้าทาย ทำให้ใครๆ ก็มีโอกาสติดการพนันได้ ไม่เว้นแม้แต่ “นักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลก” ธนากรยังได้นำเสนอเรื่องราวของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่เผลอเข้าสู่วังวนการเล่นพนันที่ต้องประสบปัญหา บางรายอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว

                    มีข้อมูลพบนักกีฬาอาชีพที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายรายได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นตนเสพติดการพนัน  ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการช่วยเหลือผู้ติดพนันในสหรัฐอเมริกา พบว่า นักกีฬามีโอกาสประสบปัญหาจากพนันสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ในขณะที่สมาพันธ์นักฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ พบว่า 6.1% ของนักฟุตบอลติดพนัน สอดคล้องกับรายงานของสมาคมกีฬาอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือ NCAA ว่า นักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกีฬาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นผู้ประสบปัญหาพนัน โดยพบว่านักศึกษากีฬาส่วนใหญ่เล่นพนัน 60% พนันทายผลกีฬา 4% เล่นพนันทุกวัน 6% เสียเงินไปกับพนันมากกว่า 500 ดอลลาร์ในหนึ่งวันและ 6% ติดพนัน

                    นักกีฬารุ่นใหม่ ไม่เอาพนัน

                    แม้จะมีนักกีฬาติดการพนันไม่น้อย แต่สำหรับ ลีซอ ธีรเทพ วิโนทัย  อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ กลับเอ่ยย้ำว่า ถึงตัวเขาเองเป็นนักกีฬาแต่ไม่เคยเสียเงินกับการพนันบอลเลยแม้สักครั้งเดียว แต่ ลีซอยอมรับว่าได้พบเห็นคนรอบตัวหลายคน ที่เป็นเพื่อนนักกีฬาด้วยกันต้องประสบปัญหาเรื่องหนี้สิน การสูญเสียทรัพย์สิน ครอบครัว และบางรายอาจเสียเพื่อนฝูงเพราะการพนัน

                    ลีซอให้ข้อคิดว่า กีฬาฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่ยากจะคาดเดาได้ ว่านัดนี้ใครจะชนะหรือแพ้ ขนาดที่เขาเองเป็นนักกีฬาก็ยังไม่สามารถคาดเดาเกมการแข่งขันได้เช่นกัน

                    “สำหรับบางคน อาจคิดเล่นการพนันเพราะมองว่าเป็นช่องทางอยากหารายได้ แต่เชื่อเถอะว่าการพนันมีแต่เสีย คุณไม่ทางชนะเขาหรอก ถ้าคุณได้จากเขา เขาก็ต้องเอาคืน ผมเห็นแต่นักพนันทั้งหลาย เป็นหนี้สิน หากต้องการหารายได้ อยากให้ทำด้วยวิธีการอื่น เช่น การพัฒนาตัวเอง สร้างตัวตน สร้างความสามารถ  และทำด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความสามารถของตัวเองดีกว่าพึ่งพาการพนัน”

                    เขายืนยันว่ายังไม่เคยเห็นใครรวยเพราะการพนัน “นักกีฬาส่วนใหญ่ที่ร่ำรวยเพราะจากการเล่นกีฬา เช่นเดียวกับนักธุรกิจเขาก็ร่ำรวยจากการทำงานหรือทำธุรกิจทั้งนั้นนะครับ”

                    สำรวจพฤติกรรมตัวเอง ว่าเรากำลังเสพติดพนันหรือไม่

                    หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในอาการป่วย และไม่อยากหาหมอ ไม่อยากเปิดเผย แต่ลองสังเกตสักนิดพบว่าเรามีอาการเหล่านี้หรือไม่

  1. ขาดความยับยั้งช่างใจอยากจะพนันตอลดเวลา ทั้งๆ ที่รู้ว่าเล่นแล้วจะเกิดผลเสียแต่ก็ไม่อาจฝืนตัวเองได้
  2. คนติดมักจะมีอาการหวนกลับไปเล่นซ้ำเป็นประจํา บางคนหวนกลับไปเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง แม้พยายามเลิก แต่เลิกไม่ได้
  3. คนที่ติดอาจไม่ค่อยยอมรับ หรืออยากยอมรับว่าตนเองติดพนัน และยากที่จะยอมเข้าหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะทําการบําบัด
  4. คนติดพนันเนี่ยมักจะมีมีธรรมชาติที่จะเป็นนักปกปิดตัวเอง ไม่ค่อยแสดงตัว จะซ่อนเร้นไม่บอกใคร จนปัญหามันผุดขึ้นมาแล้วถึงจะยอมเปิดเผยตัวเอง

                    สุดท้ายการดูกีฬาจะดีที่สุดคือการดูให้สนุก หรือยังมีกิจกรรมอย่างอื่นที่สร้างสรรค์ที่เราทําได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องเล่นพนัน

Shares:
QR Code :
QR Code