จุดบอด จีดีพี : 60 ปีการละเลยสิ่งที่วัดค่าไม่ได้
ชี้ไม่สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ลงลึก
คราวที่แล้วพูดถึง ค่าจีดีพี. เป็นเพียงภาพลวงตาเป็นผลพวงมาจากการปาฐกถาของ ดร.โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ออกตัวโจมตี ‘จีดีพี‘ หรือ “ผลผลิตมวลรวมในประเทศ” (Gross Domestic Product) ว่าไม่สามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของคนในสังคมและสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
วงสัมมนา “อนาคตของประเทศไทยหลังวิกฤติโลก : หนทางสู่สังคมอุดมสุข” (Thailand’s Future Beyond the Global Crisis: A Regional Platform Towards the ‘Wellbeing Society) ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์(SIFA) ดังกล่าวยังไม่จบคราวนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.อัมมาร สยามวาลานักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษา รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ผาสุกพงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ ดร.สุวิทย์วิบูลพลประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารแผนปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.ร่วมสัมมนา โดยมี ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุลรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการดร.วรากรณ์ ออกมายอมรับว่าเห็นสัญญาณอันตรายที่เกิดจากการวัดค่าของจีดีพีที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงโดยเสนอแนะให้เกิดการทบทวนในการปรับค่าจีดีพีตัวใหม่ให้มีพลวัตที่เหมาะสมทั้งในระดับสากล ไม่ใช่แค่ประเทศไทย
“ผมรักจีดีพีในลักษณะที่เราใช้มันอย่างถูกต้อง แต่ไม่ชอบที่นำเอาลักษณะดังกล่าวไปวัดปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะฉะนั้นควรเปิดกว้างให้ตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วย และผมมั่นใจว่าประเทศไทยเองก็มีพื้นฐานในการแสวงหาความสุขอยู่ไม่น้อย หากเรายึดหลักความพอเพียงฯ” ดร.วรากรณ์ กล่าวขณะที่ อ.อัมมารได้ตั้งคำถามเพื่อนำมาสู่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในยุคที่คนเริ่มไม่ยอมรับจีดีพี ว่า ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องยกระดับเศรษฐกิจเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นอีกหรือไม่ ด้วยการทบทวนบทบาทปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมและเพื่อให้เกิดความสุขพอเพียง
“ผมคิดว่า ดร.สติกลิทช์ อยากจะขยายค่าลักษณะการชี้วัดดังกล่าวให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นซึ่งตอนนี้การใช้จีเอ็นพีมันจบแล้ว เพราะการแสดงว่าจีเอ็นพีเป็นเพียงการแสดงสภาพความขึ้นลงผ่านความไม่สมบูรณ์จากตัวเลข แต่ไม่ได้สะท้อนสภาพความสุขที่แท้จริง” อ.อัมมารกล่าว และควรพัฒนาดัชนีการชี้วัดค่าความสุขมวลรวม (Gross National Happiness/GNH) ให้มากกว่านี้เพราะเรายังให้ค่ามันเท่ากับศูนย์
คนไม่อยากตกงาน อาจไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องตัวเลข หรือเรื่องเงินอย่างเดียวแต่อาจสะท้อนถึงเรื่องศักดิ์ศรีในความเป็นคน ความมั่นคงและความต้องการที่จะทำประโยชน์ในสังคม สิ่งสำคัญคือเราจะวัดมันอย่างไร” อ.อัมมารกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน อ.ผาสุกกลับมองว่าการวิจารณ์ปัญหา ‘จีดีพี‘ เป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ แต่การที่ ดร.สติกลิทช์ เปิดประเด็นวิจารณ์จีดีพีก็ทำให้เรารู้สึกว่าท่านเปิดโอกาสให้นักเศรษฐศาสตร์ในสายอื่นๆ มาร่วมวงด้วย ทั้งนี้ได้นำเสนอตัวชี้วัดที่อยากได้ในประเทศไทยที่ครอบคลุม 3 เรื่องดังนี้ คือ 1.ความต้องการพื้นฐาน เช่นความมั่นคงในชีวิต การมีงานทำ มีการศึกษา และภาวะสุขอนามัยที่ดี 2.ความไม่เท่าเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำ และ3.สภาพแวดล้อม
“การที่เราจะทำการศึกษาว่า จะทำให้สถานการณ์ตัวชี้วัดดีขึ้นได้อย่างไร เราต้องให้ความเข้าใจว่าการใช้จ่ายภาครัฐเป็นไปอย่างไร แล้วการใช้จ่ายของรัฐมันทำให้เข้าถึงตัวชี้วัดใหม่ได้หรือไม่ เช่นปัญหาคนจนแบกรับภาระเรื่องภาษีของคนรวย หรือการเข้าถึงบริการของภาครัฐของกลุ่มประชากรในแต่ละระดับชั้น”อ.ผาสุก กล่าว
ส่วน ดร.สุวิทย์ มีความเห็นว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดฐานเศรษฐศาสตร์เสียใหม่ ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนตัวชี้วัดตัวใหม่ และสร้างกลไกส่วนต่างๆ ในสังคมเพื่อรองรับตัวชี้วัดใหม่ๆ นั้นด้วย
สรุปได้ในภาพรวมว่าผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ตัวชี้วัดแบบ ‘จีดีพี‘ มีจุดบอดตรงที่ไม่สามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ลงลึกกว่าข้อมูลทางสถิติที่เป็น ‘ตัวเลข‘ ได้ โดยเฉพาะการละเลย “สิ่งที่วัดค่าไม่ได้”เรื่องนี้มีค่ามากทีเดียว!
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update 22-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์