จี้โรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยวเร่งปรับปรุง
อย.เผยต้องผ่านมาตรฐาน”จีเอ็มพี”ก่อนปี52
อย.ระบุงานวิจัยพบเส้นก๋วยเตี๋ยวใส่สารกันบูดปริมาณสูง เป็นข้อมูลเก่าปี 2549-2550 เผยแผนปี 2552 พร้อมดันโรงงานผลิตก๋วยเตี๋ยวเข้าเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพี ยันที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการปรับปรุงโรงงาน
ภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึง งานวิจัยของสกว.กรณีปัญหาการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งพบว่ามีการใช้สารกันบูดเกินมาตรฐาน รวมทั้งการใช้น้ำมันเก่าในเส้นใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งในผู้ที่บริโภค ว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง อย. และอาจารย์ซึ่งทำงานวิจัย โดยรับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2549-2550 เป็นปัญหาที่รู้มานานแล้ว และที่ผ่านมา ทาง อย.ได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว
ทั้งนี้ ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เพื่อสร้างความเข้าใจในการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวให้ปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมา เราพบว่าผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ในผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีในอาหาร เมื่อมีบริษัทสารเคมีไปนำเสนอ อย่างเช่น สารกันบูด ก็นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ภก.มานิตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากในปี 2551 นี้ ทาง อย.ได้กำหนดนโยบาย “อาหารสะอาดรสชาดอร่อย” (green food good test) โดยเน้นเรื่องก๋วยเตี๋ยวโดยเฉพาะแล้ว ในปี 2552 ยังจะประกาศบังคับให้โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการผลิตอาหารที่ดี ต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี จำเป็นต้องปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานนี้ อาทิเช่น เครื่องมือสะอาด คนทำมีอนามัยที่ดี ไม่มีสารหรือสิ่งปลอมปน
นอกจากนี้ทาง อย.ยังจัดทำป้ายเพื่อติดที่ร้านค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวจากโรงงานที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบ และมั่นใจความปลอดภัยในการรับประทาน
ภก.มานิตย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการส่งขายก๋วยเตี๋ยวที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ที่พบการใส่สารกันบูดจำนวนมาก เนื่องจากต้องจัดเก็บเส้นไว้หลายวันกว่าจะจัดส่งถึงร้านขายก๋วยเตี๋ยวปลายทางนั้น จากข้อมูลพบว่า ทั่วประเทศมีโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่เพียง 13 แห่งเท่านั้น แม้ว่าผลิตจำนวนมาก แต่ขายหมดได้ภายใน 7 วัน แต่ในพื้นที่ห่างไกลนั้น ทาง อย. ได้แนะนำให้ใช้กรรมวิธีอบแห้ง และฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารที่ถูกต้อง และไม่เป็นอันตราย
“ทาง อย.รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้มีการปรับปรุงมาโดยตลอด และที่ไม่นำเสนอข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ เพราะเกรงว่าจะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนก แถมยังเมื่อเป็นข่าวแล้ว ความร่วมมือในการปรับปรุงการผลิตกับผู้ประกอบการยังทำได้ยาก” ภก.มานิตย์กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update : 01-09-51