จี้ธุรกิจน้ำเมา ‘รับผิดชอบ’ สังคม

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จี้ธุรกิจน้ำเมา 'รับผิดชอบ' สังคม thaihealth


ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องด้วยเหตุเมาแล้วขับ ไม่เพียงแต่ตัวการได้รับบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก แต่สิ่งที่น่าเจ็บปวดมากกว่าคือ บุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องและดำเนินชีวิตบนท้องถนนไปตามปกติ ต้องมารับเคราะห์กรรม จนอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ดื่มเหล้า


เรื่องราวเหล่านี้ได้สะท้อนผ่านเวทีเสวนา "เรื่องเหล้า ผลกระทบในรอบปี 2561" จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (ครปอ.) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ ให้การสนับสนุน


เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้ทำการสรุปสถานการณ์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปี 2561 จาก www.stopdrink.com โดยมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน พบว่า มีสถิติโดยรวมทั้งหมด 872 ข่าว หรือเฉลี่ยวันละ 2 ข่าว แบ่งรายละเอียดเป็น คนบาดเจ็บ 532 ราย เสียชีวิต 434 ราย ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มคนวัยทำงาน 70% และรองลงมาเป็นกลุ่มวัยรุ่น 30% มีค่าเฉลี่ย ผู้ชายสูงถึง 92% ผู้หญิง 8%


หากจำแนกข่าวจะพบว่า เป็นข่าวอาชญากรรมอันดับหนึ่งถึง 207 ข่าว ส่วนใหญ่เป็นทะเลาะวิวาท เมาแล้วขาดสติ รองลงมาจากสถิติคือข่าวอุบัติเหตุอื่นๆ 205 ข่าว โดยข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนน 146 ข่าวส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มเยาวชน


จี้ธุรกิจน้ำเมา 'รับผิดชอบ' สังคม thaihealth


"สลค.ทำงานรณรงค์ตลอดทั้งปี เพื่อให้ลด ละ เลิก ขณะที่ในช่วงเทศกาล หรืองานที่มีคนจำนวนมาก เช่น งานบุญ งานบวช งานแต่ง เพื่อเน้นให้เป็นกิจกรรมปลอดเหล้า แต่ปัญหาสำคัญคือเราอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจไม่กล้าควบคุม แม้แต่การห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาก็ไม่กล้าจัดการ เพราะกลัวธุรกิจเดือดร้อน ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันพูดให้เสียงดังๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งพรรคการเมืองไหนที่มีนโยบายควบคุม แน่นอนว่าคนไทยไม่ดื่มเลยมันเป็นไปไม่ได้ แต่ควรดื่มให้อยู่ในร่องในรอย และธุรกิจนายทุนก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ไม่หลีกเลี่ยงกฎหมาย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การตลาดของธุรกิจเหล่านี้คือมุ่งเน้นไปที่เยาวชน" เภสัชกรสงกรานต์ระบุ


ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลน่าน ระบุว่า จากงานวิจัยโครงการอนามัยโลก ถ้าเราคำนวณชีวิตที่หายไป ปรากฏว่าผู้ชายเสียชีวิตจากปัญหาอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่เมืองไทย ปัญหาใหญ่ของผู้ชายไทยที่จะตายคือเหล้า ผู้หญิงจะเป็นน้อยกว่า คนไทยอายุค่าเฉลี่ยชายไทย คือ 74 ผู้หญิง 80 ห่างกัน 6 ปี เหตุที่ผู้ชายตายก่อน เพราะเหล้า บุหรี่ ควบคู่กัน


"ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและวัยทำงาน คิดเป็นร้อยละ 84 เท่ากับว่าในขณะที่ก้าวสู่สังคมสูงอายุ โดยมีวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุคิดเป็นคิดเป็น 3 ต่อ 1 แต่เราต้องสูญเสียวัยแรงงานอีกปีละ 13,000 คน จากสาเหตุที่ป้องกันได้ ยังไม่นับว่าพิการอีกปีละกว่า 60,000 คน แล้วประเทศไทยจะแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นได้อย่างไร ถ้าเรามีแต่ผู้สูงอายุและผู้พิการ"


นพ.พงศ์เทพ ชี้สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวว่า ส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุจราจรสัมพันธ์ 3 กับการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 40 โดยผู้ดื่มแอลกอฮอล์เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 1.5 เท่า


"ถ้าไม่หยุดปัญหานี้ เท่ากับเรากำลังมอมเมาคนทำงานและวัยรุ่นให้ตายเร็วขึ้น ซึ่งเห็นทุกอณูของสังคมไทยที่มีเหล้าเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วผู้คนก็ทยอยป่วย ตาย โดยเฉพาะผู้ชาย"


จี้ธุรกิจน้ำเมา 'รับผิดชอบ' สังคม thaihealth


นพ.พงศ์เทพ กล่าวและว่า คุณหมอคลุกคลีในการทำงานรณรงค์ให้เห็นผลกระทบของปัญหาแอลกอฮอล์ ได้ยกตัวอย่างการจัดการปัญหาในจังหวัดน่านจากประสบการณ์ "น่าน"เข่งเรือปลอดเหล้า" ด้วยว่า เนื่องจาก จ.น่าน ถูกตราหน้าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในการดื่มเหล้า จึงเป็นแรงกระตุ้นให้หันหน้ามาทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ ภาคประชาชนได้ร่วมกันสร้างกระแส โดยให้ข้อมูล ให้เห็นภาพชัดที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการคำสั่งประกาศที่ชัดเจน ซึ่งท่านทำก่อนที่จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ ออกมาด้วยซ้ำ ในงานแข่งเรือปลอดเหล้า


ทั้งนี้ นพ.พงศ์เทพ ได้ระบุข้อเสนอในการจัดการปัญหาจากประสบการณ์ในพื้นที่ จ.น่านด้วยว่า ข้อ 1 บังคับใช้กฎหมาย เพิ่มค่าปรับบทลงโทษ โดยเฉพาะครั้งที่ 2 และข้อ 2 การใช้ด่านครอบครัว ด่านชุมชน ในระหว่างที่ด่านตามกฎหมายยังไม่ได้ผล


ขณะที่ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา มองว่า การทำงานขณะนี้ในการรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์เปรียบเหมือนแมวไล่หนู ซึ่งเขาเป็นหนูยักษ์ แต่เราไม่ยอมแพ้ จนเขาต้องปรับเปลี่ยนออกแบบ กลยุทธ์ศรีธนญชัย ซึ่งกลุ่มทุนรู้ว่าทำไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และการกระทำของเขาก็ถูกเราจับจ้อง โดยเฉพาะปรากฏการณ์สำคัญในปีนี้ นั่นคือ การนำเครื่องกดเบียร์สดมาวางไว้ในร้านสะดวกซี้อ ซึ่งภาคประชาชนก็ร่วมด้วยช่วยกัน จนกลุ่มธุรกิจต้องถอยไปที่จะนำเบียร์สดมากดตู้ได้ โดยมีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีห้ามเอาไว้ชัดเจน


ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรามองถึงการทำงานในปีหน้าด้วยว่า โจทย์ใหญ่ที่เราต้องทำต่อเนื่องในปีหน้า นั่นคือ การออกแบบเครื่องผลิตภัณฑ์จำหน่าย ตราเสมือน ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดของกระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้าราชการที่เป็นศรีธนญชัยที่อนุญาตให้จดทะเบียน ซึ่งเป็นการพยายามฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ควบคุมโฆษณาโดยพยายามดัดแปลงใช้ตราเสมือนในสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์มาเพื่อโฆษณาได้ทุกรูปแบบตลอด 24 ชม. เช่น น้ำดื่ม โซดา


จี้ธุรกิจน้ำเมา 'รับผิดชอบ' สังคม thaihealth


สุดท้ายมันกำลังสร้างปัญหาไปทั่ว อีกทั้งยังเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และบริษัทได้ทุ่มงบโฆษณามหาศาลเพื่อสร้างการจดจำแบรนด์สินค้าแอลกอฮอล์ ซึ่งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้ามาดูแลว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ รวมทั้ง อย. เพื่อที่จะผลักดันถอดถอน ควบคุมการโฆษณา


"ขณะที่ในพื้นที่ก็มีการรุกหนักของกลุ่มธุรกิจทุนใหญ่ ทั้งเรื่องของการจัดอีเวนต์ กีฬา ดนตรี ธุรกิจเหล้าผูกขาดดนตรีเป็นค่าย และจัดกิจกรรมดูดนตรี แต่มีลานเบียร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งงาน CSR ที่ขณะนี้คือเข้าไปผูกพันกับกลไกราชการ ใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเราต้องเรียกร้องให้มีระยะห่างที่เหมาะสม เพราะมีผลโดยตรงต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน เนื่องจากมีความเกรงอกเกรงใจ"


นายคำรณ กล่าวว่า ต้องมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาล ผู้บริหารในระดับสูงถึงผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะจากส่วนกลาง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายปกครอง เพื่อเฝ้าตรวจตรา และสร้างแรงกระเพื่อมในการปฏิบัติงาน ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องขยับ มีบทบาทให้มากกว่าที่เป็นอยู่


"เราเรียกร้องขั้นต่ำที่สุดคือ ให้กลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่กระทำการเป็นศรีธนญชัยเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่เขาทำมันเป็นความสูญเสียของสังคมไทย กลไกรัฐคือเครื่องมือเป็นไม้กระบองที่จะช่วยได้ ที่ต้องเข้มงวด ควบคุม โดยเฉพาะการส่งสัญญาณของผู้มีอำนาจ ผู้บริหารระดับสูง ต้องชัดเจนต่อระดับผู้ปฏิบัติงาน"


ด้าน น้องตะวัน (นามสมมุติ) เหยื่อที่ได้รับผลประทบจากน้ำเมา กล่าวว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ยังเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใช้ชีวิตปกติ อยู่กับครอบครัว แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เขาประสบอุบัติเหตุคนเมาขับรถกระบะชนทำให้ต้องตัดขาทั้งสองข้าง ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แม่ต้องแบกรับภาระในครอบครัวเพื่อดูแลเขา ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติตราบจนถึงทุกวันนี้


ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องส่งเสียงดังกดดันผู้มีอำนาจ กล้าหาญจัดการกับธุรกิจน้ำเมาในคราบศรีธนญชัยให้ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code