จำกัดร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย
งานใหญ่ที่รัฐบาลยังเพิกเฉย
หากใครผ่านไปโดยรอบมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สิ่งที่พบเห็นในสมัยนี้ และเป็นเรื่องที่ชาชิน คือ ร้านเหล้า ที่เปิดกันอย่างโจ่งครึ่มโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย วัยรุ่น นักศึกษาเมามายหัวราน้ำ แทนที่จะเอาเวลาไปทบทวนการเล่าเรียน หรือใช้เวลาว่างทำประโยชน์ให้แก่สังคม
ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีลงไปตรวจสอบเป็นพิธี แต่พอกลับไปร้านเหล้าต่างๆ กลับเพิ่มขึ้นอีก เพราะไม่มีความเอาจริงเอาจังจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ขณะที่หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์กรภาคสังคม ก็พยายามรณรงค์ต่อต้าน เพราะทราบดีถึงภัย และผลกระทบที่ได้รับจากการดื่มสุรา ทั้งเกิดขึ้นจากผู้ดื่มหรือคนอื่นๆ ในเรื่องของอุบัติเหตุ แต่หากไม่ได้รับช่วยเหลืออย่างจริงจังในระดับนโยบาย ก็จะเป็นเรื่องยากในการลดปัญหาข้างต้น
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า องค์กรดังกล่าวได้รวมตัวจากคนที่ได้เห็นปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ในเรื่องผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเกิดการรวมพลังทางสังคมจัดตั้งองค์กรขึ้นในปี 2546 ขึ้นมา ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิใช่รอแต่พลังทางราชการหรือพระอย่างเดียว
ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า บอกว่า ภารกิจหลักคือ ใช้พลังสังคมและองค์กรต่างๆ ที่เห็นปัญหาเช่นกันกับเรา ให้ออกมารวมตัวกันในรูปแบบประชาคมงดเหล้า ซึ่งในปัจจุบันได้มีการขยายไปทุกจังหวัด เพื่อเป็นหูเป็นตา เป็นกระบอกเสียง และชี้เบาะแสต่างๆ ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการต่อไป
“บทบาทการดำเนินงานที่ผ่านมา คือ การสร้างค่านิยมในการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านงานงดเหล้าเข้าพรรษา งานบุญประเพณีต่างๆ พร้อมทั้ง มุ่งเน้นการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสนับสนุนให้กลุ่มอาชีพ กลุ่มองค์กร กลุ่มเยาวชน รวมตัวแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม มีการสร้างเครือข่ายโรงงานไม่ให้พนักงานดื่มเหล้า โดยเครือข่ายเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง”
นายธีระ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก โดยขณะนี้จำนวนนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้มีจำนวนกว่า 2.6 แสนราย ส่วนพฤติกรรมการดื่มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยลักษณะการดื่มจะไม่ใช่สังสรรค์เพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่ลักษณะของวัยรุ่นคือ ดื่มเพื่อเมา ผลที่ตามมานำไปสู่ความเสี่ยง อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท เรื่องเพศสัมพันธ์ ผลการเรียนตกต่ำ และปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก
“สมัยนี้ยังมีเหล้าปั่นทำให้เกิดการเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องครอบครัวที่สะสมมามาก ทำให้พ่อแม่คิดว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ หลายครอบครัวก็ให้เหล้า-เบียร์กับเด็กทดลองดื่ม เราพบเด็ก 5-6 ขวบ ก็ดื่มได้แล้ว ส่วนต่อมา เป็นปัญหาที่ตัวเด็กเอง คือ อยากรู้ อยากทดลอง และเมื่อไปบวกกับปัจจัยภายนอกดังกล่าว ก็ทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น”
ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวต่อว่า สาเหตุเป็นเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทำการตลาด ส่งเสริมการขาย มีรูปแบบสื่อสารเกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น ความเป็นเพื่อน ความรักเข้ามาดึงดูด ค่านิยมเหล่านี้ทำให้เกิดทัศนคติด้านบวกในการดื่ม รวมทั้ง สินค้ายังมีราคาถูก สามารถเข้าถึงง่าย โดยมีร้านค้าที่มีใบอนุญาตกว่า 5 แสนราย เรื่องดังกล่าวจะต้องแก้ไขในระยะยาว ทำให้ค่านิยมและพฤติกรรมของเด็กอยู่ในภาวะเหมาะสมมากขึ้น เช่น ผลักดันควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาไม่ให้ใบอนุญาตขายเหล้าปั่น พร้อมหาแนวทางเปลี่ยนพฤติกรรมของนักศึกษา ว่าการคบเพื่อนไม่จำเป็นต้องไปร้านเหล้าเสมอไป เพราะยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทดแทนการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนๆ ได้อีกมาก
“ต้องให้คำแนะนำรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เพราะร้านเหล้าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นของนักศึกษาหรือนิสิตที่จบไปแล้ว เพราะธุรกิจดังกล่าวทำง่าย ไม่ยุ่งยาก มีแค่เหล้ามาขาย กับแกล้ม เอาดนตรีมาเปิด ก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว ล่าสุดมีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยที่มีร้านเหล้าโดยรอบมากที่สุด คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ขณะที่ในกรุงเทพฯ คือ ม.จุฬาฯ ม.หอการค้า และ ม.จันทรเกษม โดยนักศึกษาที่ใช้บริการส่วนใหญ่จะอยู่หอพักโดยรอบมหาวิทยาลัย” นายธีระ กล่าว
ผู้จัดการเครือข่ายฯ ยังกล่าวต่ออีกว่า เท่าที่ติดตามยังรอการตัดสินใจจากรัฐบาลอยู่ เพราะเราได้เสนอแนวทางแก้ไขไปหลายรอบ ติดตามร้องเรียนไปหลายครั้งว่าทำไมไม่ยอมใช้กฎหมายจัดการร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะรัฐบาลเกรงว่าทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เช่น ออกมาจัดการแล้วทำให้ร้านค้าเสียผลประโยชน์ จึงเกิดอาการรีรอ ซึ่งหากทางรัฐบาลไม่ออกมาตรการมาช่วยเหลือคงจะแก้ปัญหาได้ลำบาก
นอกจากนี้ ต้องผลักดันให้สถาบันการศึกษาเป็นเขตปลอดเหล้าเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาพบว่า บางโอกาสยังมีครูนั่งดื่มในโรงเรียนหลังเลิกเรียน หรือในงานประเพณีที่สถานศึกษาจัดขึ้น เช่น งานลอยกระทง หรือกิจกรรมอื่นๆ บางครั้งยังขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย
“ทาง สคล.กำลังจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะทำให้เกิดพื้นที่ดีให้แก่เยาวชน และควรผลักดันการให้ใบอนุญาตให้จำนวนร้านค้าจำกัดลง ซึ่งเป็นเรื่องต้องผลักดันและต้องอาศัยความร่วมมือจากครู องค์กรการศึกษา ที่จะต้องสร้างความตระหนักให้แก่นักเรียน การสร้างโครงการโรงเรียนปลอดเหล้าต้นแบบ ทำให้เด็กและเยาวชนออกมาช่วยเพื่อนและแก้ปัญหาในการดื่มเหล้า โดยไม่รอนโยบายจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ขณะนี้ได้ผลักดันโรงเรียนต้นแบบประมาณ 50 แห่งทั่วประเทศ” ผู้จัดการ สคล.กล่าว
นายธีระ กล่าวปิดท้ายว่า สคล.ยังผลักดันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อสร้างวัคซีนให้แก่เด็ก ให้พวกเขามีกิจกรรมไปชวนพ่อแม่หรือคนในชุมชนเลิกเหล้า ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ จะกลายเป็นนักรณรงค์ต่อไปในอนาคต หากเป็นกลุ่มนักศึกษา จะเปลี่ยนค่านิยมเรื่องรับน้องของมหาวิทยาลัย ต้องปลอดเหล้า สนับสนุนให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ ทั้งดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการยอมรับจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งหลาย รวมทั้ง พ่อแม่ก็สบายใจที่ลูกๆ มาร่วมทำกิจกรรม แตกต่างจากดนตรีที่บริษัทเหล้า-เบียร์ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ตจะมีปัญหาตามมา เช่น การทะเลาะวิวาท ที่เป็นปัญหาสังคมอย่างทุก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 01-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน