จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง thaihealth


"อาหาร" ถือเป็นต้นทางและปลายทางในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์ม สวน ไร่ นา พื้นที่เพาะปลูกก่อนถึงมือผู้บริโภค การใช้สารเคมีจัดการศัตรูพืชหรือใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มผลผลิตส่งผลให้มีสารปนเปื้อนตกค้างในพืชผัก ปัจจุบันนี้หลายพื้นที่ได้เห็นความสำคัญของสุขภาพ และได้ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ในวิถีพอเพียงตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดประชุมวิชาการโภชนาการ ครั้งที่ 10 เรื่อง "โภชนาการเชิงรุกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" หนึ่งในหัวข้อที่มีความน่าสนใจในการประชุมครั้งนี้คือ "กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย เพื่อคนไทยเป็นสุข" ซึ่งได้หยิบยก 2 พื้นที่ตัวอย่าง คือ นครปฐม และเชียงราย เป็นโมเดลที่สำคัญ กล้าเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์


จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง thaihealth


นายกิตติ ทิศสกุล โครงการเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขอบคุณ สสส.ที่เห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ในการขับเคลื่อนโครงการและให้ทุนสนับสนุนในการทำงานตั้งแต่แรกเริ่มโครงการเรื่อยมา โดยสามารถขับเคลื่อนเป็นวาระของจังหวัดจนสำเร็จ ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ได้ ภายใต้โครงการ 'เกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข'


โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการผลิต การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ประชากรสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการและพนักงานร้านอาหาร โรงเรียน และผู้บริโภคในจังหวัด


 "ผลการดำเนินงานทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารของจังหวัด เกิดต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการนำกลยุทธ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดจนสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น มีการสนับสนุนการทำการเกษตรที่ปลอดภัย พัฒนาการยกระดับมาตรฐานของโรงแรม ร้านอาหารให้เข้าสู่สากล ตอบโจทย์การตรวจประเมินร้านอาหาร ที่สำคัญประเทศ ไทยยังคงมีจำนวนของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอยู่จำนวนมาก ซึ่งในอนาคตสารเคมีเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ตนเห็นว่าทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ อีกทั้งควรน้อมนำคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ให้ไว้นำมาใช้และปฏิบัติจริง" นายกิตติกล่าว


จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง thaihealth


ด้าน นายอรุษ นวราช ผู้บริหารศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์สุขใจ (สวนสามพราน) และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในปัจจุบันคือการใช้สารเคมี เมื่อใช้สารเคมีแล้วก่อให้เกิดหนี้สิน อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อดินและสิ่งแวดล้อมที่อยู่บริเวณรอบๆ ที่สำคัญยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เกษตรกรส่วนใหญ่ติดอยู่ในวงจรแบบนี้มาทั้งชีวิต ถ้า 35% ของประชากรไทยคือเกษตรกร นี่คือปัญหาใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประเทศ


"โครงการสามพรานโมเดล จะหาช่องทางใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เป็นการเชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคผ่านห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม สามพรานโมเดลเป็นการยกระดับห่วงโซ่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสังคมสุขใจ สสส. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อต้องการให้เกษตรกรพึ่งพาธรรมชาติและพึ่งพาตัวเอง สร้างความสมดุลแก่อาหาร โดยกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ คือ การประชุมกลุ่มในทุกๆ เดือนทั้ง 11 กลุ่ม เพื่อหาแนวทางพัฒนาและแก้ไข มีการใช้ระบบ Participatory Guarantee System (PGS) ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมของตัวเองพร้อมพัฒนาไปสู่มาตรฐานอินทรีย์สากล กว่า 5 ปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคมากมายได้เข้ามาซื้อสินค้าเกษตรที่ตลาดสุขใจเฉลี่ย 1 พันคนต่อวัน สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าในการเปลี่ยนแปลงของการทำการเกษตรในไทยก็ว่าได้" ผู้บริหารสวนสามพรานกล่าว


ทั้งสองพื้นที่นำร่องเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนว่า หากทุกฝ่ายให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังสามารถสร้างความยั่งยืนด้านอาหารของไทยได้

Shares:
QR Code :
QR Code