“จับตา” มาตรการเด็ด ลด ละ เลิกเหล้า “ห้ามขายทุกเทศกาล”

 

หวังลดจำนวนนักดื่ม อัตราการบาดเจ็บ และตาย

 

“จับตา” มาตรการเด็ด ลด ละ เลิกเหล้า “ห้ามขายทุกเทศกาล”           เหล้า อบายมุขอันดับต้นๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ติดและเมื่อติดแล้วก็เลิกไม่ได้ ถึงขั้นเรียกได้ว่าตกเป็นทาสของมัน ทั้งๆ ที่รู้ๆ กันอยู่ว่า เหล้ามีแต่โทษ แต่จำนวนตัวเลขของผู้ที่ดื่มกลับสวนกระแสเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย อีกทั้งอายุของนักดื่มหน้าใหม่ๆ ก็ยิ่งน้อยลงไปทุกๆ วัน

 

           เราทุกคนต่างรู้ดีว่า เหล้า ไม่มีประโยชน์ต่อตัวผู้ดื่มเลยแม้แต่น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม เหล้ายังเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายนานาชนิด อีกทั้งยังก่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย อาชญากรรม  และที่สำคัญสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากการดื่มเหล้าทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้จะเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีจำนวนผู้ดื่มเหล้ามากขึ้น

 

          จากสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่าเป้าหมายของธุรกิจร้านค้า สถานบันเทิงนั้นได้มุ่งเน้นไปที่เยาวชน โดยเหล่าพ่อค้าหัวใสที่มักเล็งเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน จนลืมนึกถึงผลกระทบที่ตามมา ด้วยการเปิดร้านเหล้า ในบริเวณใกล้กับสถานศึกษา ทั้งๆ ที่เป็นบริเวณที่ไม่น่าจะเปิดร้านเหล่านั้นอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีแคมเปญต่างๆ อีกมากมายที่ใช้เป็นตัวดึงดูดให้เยาวชนหันมาสนใจ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายหน่วยงาน ทั้งเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างร่วมมือกันหามาตรการป้องกันแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังลดจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์!!! 

 

          อีกทั้งยังมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลากว่า 7 เดือน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่มุ่งควบคุมการจำหน่าย การดื่ม และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ จะยังไม่เป็นผล

 

           และเห็นได้ว่า ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และผลกระทบที่เกิดจากการบริโภค ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข จากการสำรวจของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า ในแต่ละปี คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 16.2 ล้านคน และเสียเงินซื้อไปเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง

 

            นอกจากนี้ ยังคงพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุรายังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างเทศกาลขึ้นปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ จากสถิติย้อนหลังของผู้เสียชีวิตจากการดื่มที่ผ่านมา พบยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2547 มียอดผู้เสียชีวิต 654 คน, ปี 2548 เสียชีวิต 522 คน, ปี 2549 เสียชีวิต 476 คน, ปี 2550 เสียชีวิต 361, ปี 2551 เสียชีวิต 368 คน

 

          และเทศกาลปีใหม่ 2547 มียอดผู้เสียชีวิต 628 คน, ปี 2548 เสียชีวิต 469 คน, ปี 2549 เสียชีวิต 434 คน, ปี 2550 เสียชีวิต 449 คน โดยในปี 2550 พฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญอันดับแรกคือ การไม่สวมหมวกนิรภัย 54.08% รองลงมาคือเมาสุรา 36.74% และมอเตอร์ไซค์ทำสถิติสูงสุด 86.53% ถึงแม้ว่าตัวเลขของการเสียชีวิตจะลดลงในแต่ละปี  แต่ก็ยังคงเป็นจำนวนที่สูงอยู่

 

          และที่น่าสนใจคือ วันที่มักเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียมากที่สุดคือช่วงรอยต่อระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม-1 มกราคม ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะฉลองกัน ทำให้คนดื่มสุรากันมากจนขาดสติสัมปชัญญะ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุในที่สุด

 

          หากมีมาตรการหรือกฎหมายตัวใด ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคงมีจำนวนลดลงอย่างมาก เหมือนกับที่ทาง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ได้ดำเนินการโครงการรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิกเหล้า มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น งดเหล้าเข้าพรรษา  รับน้องปลอดเหล้า  ดื่มไม่ขับ ไม่ซ้อนคนดื่ม และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ 

  

            ….แต่ถึงอย่างไรนั้น เราคงต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีมาตรการหรือกฏหมายตัวใดที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างจริงจังเสียที และจะได้ผลมากเพียงใด เพียงแค่การรณรงค์เฉพาะกลุ่มที่ทำงานเพียงบางกลุ่มจะไม่สามารถทำให้ได้ผลออกมาอย่างจริงจัง ดังนั้นต้องพึ่ง “หัวใจหลัก” อย่างประชาชนทั่วไป เข้ามาช่วย อย่านิ่งดูดาย หากต้องการให้สังคมมีแต่คนที่มีสุขภาพดี  มา ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันนี้!!!

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content www.thaihealth.or.th

  

 

Update : 08-10-51

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code