จัดสรร “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ-ที่อยู่อาศัย”

จัดสรร “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ-ที่อยู่อาศัย” thaihealth


ห่วงปัญหาคนไร้บ้านอื้อ ! เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ชงจัดสรร “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ-ที่อยู่อาศัย” ให้เข้าถึง สสส.-มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ร่วม พม.จังหวัดเดินหน้านโยบาย ดัน “ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” แก้ตรงจุดทุกปัญหา


เมื่อวันที 14 พ.ค. 58 ที่ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น ในเวทีสื่อสารสาธารณะ “สวัสดิการคนไร้บ้านกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง”  โดยความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนางสาวนพพรรณ พรหมศรี หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน (มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่3 โดยสภาพปัญหาที่พบรุนแรง อาทิ ปัญหาความเป็นส่วนตัว สถานะทางเศรษฐกิจรายได้ ความสมบูรณ์ของสภาพร่างกาย โรคภัยความเจ็บปวด มีสภาพความยากลำบากมากกว่ากลุ่มคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐย่อมแตกต่างจากคนในระบบปกติ


จัดสรร “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ-ที่อยู่อาศัย” thaihealth


นางสาวนพพรรณ กล่าวต่อว่า ปัญหาสวัสดิการทางสังคมของคนไร้บ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือเป็นผู้ป่วยยังเป็นปัญหามาก เพราะไม่มีคนดูแล ภาครัฐควรพัฒนาศูนย์ที่มีอยู่เพื่อเอื้อให้การดูแลเข้าถึงผู้สูงอายุ รวมไปถึงการจัดสรรดูแลเบี้ยยังชีพให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากนี้สวัสดิการสังคมประเด็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้าน ควรมีนโยบายเพิ่มเติมใน 2 ระดับ 1.ศูนย์พัก ที่เป็นที่อยู่อาศัยระยะผ่าน เพื่อให้ตั้งหลัก ฟื้นฟูศักยภาพขึ้นได้ และ2. การให้มีการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นของตัวเอง


"อยากให้มองว่า คนไร้บ้านเป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน รัฐที่มีหน้าที่โดยตรง ควรมีนโยบายหรือกลไกให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของคนกลุ่มนี้  และคนในสังคมควรมีทัศนคติในทางบวก จะทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ยืนอยู่ได้ในสังคม และเปิดกว้างในการเข้าถึงการทำงานเพิ่มขึ้น" นางสาวนพพรรณกล่าว


นายธเนศ จรโณทัย ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า  สวัสดิการที่สำคัญที่สุดของ คนไร้บ้าน คือการ ออกจากบ้านมานาน ฐานะทางทะเบียนไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่จำเป็นต้องมีบัตรประชาชนแสดงตัวตน ทำให้การเข้ารับการบริการสวัสดิการต่างๆ ยากลำบาก รวมไปถึงไม่มีสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ที่ภาครัฐจัดให้ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ และกรณีของคนสติไม่สมประกอบอีกหลายคนที่ยังต้องการความช่วยเหลือเพราะปัญหาขั้นตอนขอรับบริการที่ยังซับซ้อน ข้อเสนอแนะ คืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มารับรู้ปัญหา และบูรณาการแนวทางแก้ไข้ร่วมกัน


จัดสรร “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-คนพิการ-ที่อยู่อาศัย” thaihealth


ด้านนายประณต จันทร์ศรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากสถิติเทศบาลเมืองขอนแก่นมีคนไร้บ้านประมาณ 136 ราย โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขึ้นมา เป็นสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง หรือว่ามีปัญหาทางสังคมที่ต้องเยียวยาขั้นพื้นฐาน สอบถามตรวจสอบปัญหาด้านสวัสดิการหรือปัญหาความต้องการที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดกรองส่งต่อไปยังสถานที่ที่เกี่ยวข้อ


“เชิงนโยบายสวัสดิการ อยากจะบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ด้านสุขอนามัย อยากขอความร่วมมือไปทางหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาร่วม ด้านความเป็นอยู่ทั่วไป สังคมหรือท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ เข้ามาช่วยดูแลกัน ซึ่งเป้าหมายของพม.คือบริการประชาชนให้เข้าถึงสวัสดิการที่เป็นธรรม บุคคลไร้บ้านถือเป็นอีกกลุ่มบุคคลหนึ่งที่สังคมต้องให้ความเมตตาและให้ความเข้าใจ”


นางสุจิตรา ดวงเต็ม ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มีบทบาทหลักในการให้ที่พักอาศัยเป็นหลักก่อน ต่อมาคือการสร้างอาชีพให้พี่น้องคนไร้ที่พึ่งมีงานทำ ที่สำคัญคือมีการจัดสวัสดิการ เสริมสร้างสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ การส่งเสริมการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนสวัสดิการด้านสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้ที่พึ่ง โดยการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ในที่สาธารณะอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงคนไร้ที่อยู่อาศัย รายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากไม่สามารถพึ่งตัวเองหรือผู้อื่นได้อีกด้วย


 


 


ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code