จัดระเบียบประชาธิปไตย ปฏิรูปประเทศไทยไปโลด


ผมมาแล้วครับ..มาตามที่ได้นัดไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน  แม้จะไม่มีใครตอบรับนัดผมเป็นรูปเป็นร่างเป็นชิ้นเป็นอันก็ตาม  ผมขอคิดเองเออเองแล้วกันว่า ใครอ่านบรรทัดนี้ ถือว่ามา..ตามนัดแล้วกัน นัดไว้ว่า… ในโอกาสที่คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมจัดเวที “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. 2554 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนานั้น  ผมจะไปติดตาม สำรวจแล้วมาขยาย…ยยยยยย..เล่าสู่ให้อ่าน เพื่อเป็น ซ.ต.พ.ว่า ท้องถิ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยไปโลด!


ย่างเท้าเข้าไปในงาน เรียกว่าคึกคัก ครึกโครม น่าตื่นตาตื่นใจ สมกับเป็นงานใหญ่ประจำปีเพื่อการส่งเสริมขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประเทศไทยเลยครับ งานภาควิชาการนั้นก็ไม่น้อยหน้า เพราะงานนี้ไม่ใช่งานขายของลดแลกแจกแถม หรือเปิดแคมเปญโหมโรงโฆษณาอวดอ้างกระตุ้นยอดจำหน่าย รวมทั้งไม่ใช่งานเอาผู้นำชุมชน หัวคะแนนมากินมาเที่ยวเมืองหลวงช่วงใกล้รัฐบาลเตรียมตีระฆังเลือกตั้งทั่วไป..เสร็จแล้ว จบงานก็แล้วกันไป ทางใครทางมัน มาทางไหนกลับทางนั้น


ผมมองว่า นี่เป็นงานติดอาวุธทางปัญญา พร้อมๆ กับการแสดงเจตนารมณ์ร่วมอันแน่วแน่ว่า พลังมวลชน เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ และมีความสามารถสร้างสรรค์  เพื่อนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตและพัฒนาสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน เรียกว่า…ใครที่ยังคิดไม่ออกว่า จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปบ้านเมืองอย่างไร เข้าไปงานนี้จะได้เรียนรู้ และมีวิธีคิดที่หลากหลาย บนพื้นฐานที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร หรือนั่งรอด้วยความหวังว่า จะมีอัศวินขี่ม้าขาวยื่นมือมาช่วยเหลือฝ่ายเดียวเหมือนในอดีต..อีกต่อไป


จับประเด็นแค่การปาฐกถาพิเศษของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในหัวข้อ “ประชาธิปไตย 3 ระดับ ปฏิรูปชุมชน” ผมก็รู้สึกว่าปัญญาของผม “ฟู” ขึ้นกว่าปกติที่เป็นอยู่มากทีเดียว


ในทัศนะของผมแล้ว…การกระตุ้นให้ลอง “คิดตาม” ของอาจารย์เอนก นอกจากจะเป็นมุมมองใหม่ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกและเติมความหวังอันแสนริบหรี่แล้ว มันยังเป็นการชี้ทางสว่างสำหรับสังคมไทยที่กำลังเซ็งเป็ด เหม็นเบื่อ เหนื่อยหน่ายกับวัฒนธรรมประเพณีประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งได้อย่างทันสถานการณ์ที่สุดครับ


เพราะจากบรรยากาศการเมืองที่ร้อนแรงทั้งในรัฐสภาและกลางถนนหลวง  เชื่อว่ามีหลายคนเริ่มเห็นคล้อยตามกระแสความคิดที่ว่า เลือกตั้งกี่ครั้งๆมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เสมือนว่า บ้านนี้เมืองนี้ถูกผูกขาดอำนาจโดยนักเลือกตั้งกลุ่มเดิมๆ ที่ผลัดกันเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในระบบ “ทีใครทีมัน” เท่านั้น..ฉะนั้นจึงมีผู้จุดประกายข้อเสนอที่ระบุว่าไม่ควรปฏิเสธ  คือ อภิวัฒน์ประเทศไทยด้วยการ “หยุด” ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งลงชั่วคราว


แต่…ผมขอยืนยันว่า แค่คิดก็ผิดแล้วกับการปฏิวัติ แม้มีความพยายามเลี่ยงไปใช้คำว่า “อภิวัฒน์” แทนก็ตาม (อ้อ..คนละเป้าหมายกับงานอภิวัฒน์ชุมชนเข้มแข็งนะครับ..อย่าสับสนถึงแม้มันออกจะซับซ้อนนิดหน่อย)



ยิ่งถ้าได้อ่านหรือฟังประเด็นการนำเสนอแนวคิดของดร.เอนกแล้ว คนไทยทุกคนก็จะโล่งอกโล่งใจได้ครับว่า  ประชาธิปไตยนั้น ยังไงๆ ดีกว่าระบอบอื่นแน่นอน แต่เราจำเป็นต้องเรียนรู้การบริหารจัดการประชาธิปไตยให้ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของเรา เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย…ประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพื่อประชาชนโดยประชาชนอย่างแท้จริง


เพื่อมิให้ “ประชาธิปไตย” เป็นแค่ของสวยของงามที่นักการเมืองมักใช้เป็นข้ออ้าง “เพื่อประชาชนโดยประชาชน” แบบหลอกๆ แล้วแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวนั้น อาจารย์เอนกเสนอแนะว่า ต่อไปนี้สังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติใหม่ว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยมี 3 ระดับ คือ ประชาธิปไตยระดับชาติ ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยระดับชุมชน


ด้วยมุมมองแบบนี้ ประชาธิปไตยแบบเดียวที่ผูกขาดอำนาจการเมืองการปกครองไทยมานานก็จะต้องถูกปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะประชาธิปไตย 3 ระดับนี้จะไม่อยู่ภายใต้จำกัดความ “ประชาธิปไตยคือการเลือกผู้นำ” อีกต่อไป หรือเป็นประเพณีปฏิบัติว่า “ประชาธิปไตยคือการหย่อนบัตร” เท่านั้น


 “เราควรจะเห็นว่า บ้านเมืองมี 3 ระดับ ยุบรวมกันไม่ได้ และขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยคือการคิดว่า ประชาธิปไตยมีแบบเดียว คือการเลือกผู้นำ ต่อไปนี้เราต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกนาย  แต่ประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”  นี่เป็นการนำเสนอของนักคิดและนักวิชาการที่อยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า ซึ่งตอกย้ำว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญเป็นรากฐานที่จะทำให้ท้องถิ่นและประเทศชาติเข้มแข็ง ต่อไปนี้ชุมชนต้องไม่เลียนแบบประชาธิปไตยแบบระดับชาติ แต่ต้องมีประชาธิปไตยในแนวชุมชนเอง ที่ไม่ทิ้งภูมิปัญญา หรือวิถีของชุมชน เช่นเดียวกับท้องถิ่น ที่ต้องออกแบบประชาธิปไตยที่สอดคล้องต้องกับการบริหารจัดการของตนเอง


อ.เอนกนำเสนอ ประชาธิปไตย 3 แบบที่เหมาะสมกับ 3 ระดับที่ว่า นั่นคือ แบบแรก..ประชาธิปไตยทางอ้อม นั่นคือการเลือกผู้แทน ผู้นำ..แบบที่สอง..ประชาธิปไตยทางตรง ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีจิตอาสา รู้สึกเป็นเจ้าของ โดยตรง และแบบที่สาม..ประชาธิปไตยมีรัฐแบ่งอำนาจกับสังคม ทั้งนี้ประชาธิปไตยระดับชาติใช้แบบที่หนึ่ง ซึ่งยากที่จะไปเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าหากท้องถิ่นและชุมชนเข้มแข็ง สักวันมันจะต้องเปลี่ยนไป ส่วนประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ต้องใช้แบบแรกคู่กับแบบที่สอง และประชาธิปไตยระดับชุมชนใช้แบบที่สองคู่กับแบบที่สาม


สรุปคือ การเมืองระดับท้องถิ่นควรจะเป็นคุณปรองดอง คุณสมานฉันท์ คุณสามัคคี อย่าไปตั้งหน้าตั้งตาจ้องห้ำหั่นกันจนไม่มีเวลาทำงานแบบการเมืองระดับชาติ  ในขณะที่การเมืองระดับชุมชนนั้น ต้องพยายามทำชุมชนให้เป็นครอบครัวใหญ่ มีจิตอาสา รักชุมชนเหมือนกับรักครอบครัวของตัวเอง อย่าไปคล้อยตาม ลอกเลียนการเมืองแบบระดับชาติเด็ดขาด


สิ่งที่น่าคิดตามจากกรณีนี้ และเข้าใจง่ายๆ เห็นจะเป็นตัวอย่างที่ผู้ปาฐถายกเป็นรูปธรรมว่า ชุมชนควรจะรู้เรื่องตัวเอง และสภาพแวดล้อมในชุมชนตัวเองให้มากที่สุด อาทิ สามารถบอกได้ว่า วัดใกล้บ้านนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไรมากกว่ารู้เรื่องวัดพระแก้วในกรุงเทพมหานคร …ผมเห็นด้วยครับ เพราะบ้านเมืองที่ยุ่งเหยิงทุกวันนี้ ก็เพราะคนไทยไม่รู้หน้าที่ตัวเอง แต่ยังดันจะไปอวดรู้แนะให้คนอื่นทำโน่นทำนี่ …จริงไหมครับ


การออกแบบประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับท้องถิ่นหรือชุมชนตนเอง ถือเป็นการวางรากฐานการบริหารที่มั่นคงและยั่งยืนครับ จากนั้นเราก็จะสามารถใช้พลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งไปผลักดัน ขับเคลื่อนระดับชาติที่ว่ายากนักยากหนาได้แน่นอน…สักวัน!


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน ปฏิรูป 


 

Shares:
QR Code :
QR Code