จัดการขยะ บ้านกอม่วง จ.ลำพูน
ที่มา : จัดการขยะ 12 ประเด็นสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ในปี 2544 ที่บ้านกอม่วง หมู่ที่2 มีคนเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก จนปี 2545 คำอิ่น เหล้าจักรสินธุ์ จึงจัดทำกองทุนบุญขยะขึ้นในชุมชน โดยเป็นการนำขยะมารวมเป็นกองทุน มีคณะกรรมการบริหารจัดการ ส่งเสริมให้คนคัดแยกขยะ และนำมาส่งให้กับกองทุน
“กลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ให้เขาเก็บคัดแยกขยะมาส่ง เงินแต่ละบาทจากการขายขยะ จะนำเก็บไว้ เมื่อถึงสิ้นปีจะนำไปซื้อของเพื่อมอบให้กับผู้สูงอายุ”
นอกจากผู้ใหญ่จะใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อมแล้ว เยาวชนที่นี่ก็เป็นกลไกสำคัญ โดย คำเอิ่น เล่าว่า เด็กๆ ที่นี่จะปั่นจักรยานเก็บขยะในยามว่าง เมื่อได้ขยะก็จะมีการนำแลกเป็นแต้ม แต่ละปีจะมีการนำแต้มมาแลกเป็นสิ่งของเครื่องใช้
ทางกลุ่มจะรับขยะในวันรับเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งทางผู้สูงอายุจะมารับเบี้ยที่จุดรวมตัวของหมู่บ้าน หิ้วขยะมาคนละถุงสองถุง รับเงินแล้วก็ขายขยะ เป็นความร่วมใจที่หาได้จริงๆ ในชุมชน
ทั้งยังมีโครงการทอดผ้าป่ารีไซเคิล ซึ่งทางกรรมการจะมีการประกาศผ่านเสียงตามสายของหมู่บ้านให้เอาขยะมารวมกัน โดยมีพระมาให้ศีลให้พรตามประเพณีทอดผ้าป่าจริงๆ แต่เปลี่ยนจากปัจจัยเป็นขยะ
ที่บ้านหมู่ที่ 2 จะแบ่งการจัดการขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะอันตราย และขยะเปียก แต่ละประเภทจะมีประธานรับผิดชอบในประเภทของตัวเอง
แก้วตา กันทาวัฒน์ ประธานกลุ่มขยะรีไซเคิล ชี้ให้ดูขยะอย่างถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดพลาสติก ซองกาแฟ ที่ได้นำมาเป็นวัสดุในการประดิษฐ์งานหัตถกรรม เพิ่มมูลค่า และตอบวัตถุประสงค์
บ้านกอม่วงไม่ได้ทำแค่เพราะเกิดโรคไข้เลือดออก เพราะทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าประกวดในโครงการ Zero Waste เสมอมาจนได้เป็น 1 ใน 5 หมู่บ้านทั่วประเทศที่สามารถลดขยะให้เหลือศูนย์
"ปีล่าสุดนี้ ทางกลุ่มทำพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 กิจกรรมหลัก อาทิ การปลูกต้นไม้ การประหยัดไฟ การคัดแยกขยะ และการเดินทางอย่างยั่งยืน ซึ่งรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เราใช้เสียงตามสายรณรงค์ รวมถึงมีคณะกรรมการเดินเคาะประตูบ้านเพื่อขอความร่วมมือ พยายามพาเขาไปเรียนรู้ที่ศูนย์ลดโลกร้อนตำบลอุโมงค์" คำเอิ่น เล่าด้วยรอยยิ้ม